เรือหลวงท่าจีน เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ จะได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชานุญาติ และวินิจฉัยชื่อเรือหลวงลำใหม่ที่ต่อจากประเทศเกาหลีใต้ว่า "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" ซึ่งจะเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 6 ม.ค.62 นี้ ซึ่งกองทัพเรือจะจัดพิธีพิธีต้อนรับ และขึ้นระวางเรือประจำการ ในวันจันทร์ที่ 7 ม.ค.62 โดยมี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. เป็นประธานในพิธี ณ ท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือรบลำใหม่ของไทย เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง สร้างโดยบริษัท DSME (Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) ของประเทศเกาหลีใต้ ภายหลังได้มีการออกแบบตรงกับความต้องการของกองทัพเรือตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลัก สามารถตอบสนองภารกิจทุกภารกิจกองทัพเรือมากที่สุด
โดยเรือฟริเกตลำนี้ เป็นการพัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล กำลังพล 136 นาย
สามารถทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 6 ขึ้นไป โครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ สามารถตรวจการณ์ครอบคลุมทุกมิติทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากมีการติดตั้งระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจการณ์ที่ทันสมัย ที่มีขีดความสามารถสูง รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูล สื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง
ทั้งนี้ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ยังสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศโดยการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้ายและโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำได้ที่ระยะไกลด้วย Vertical Launch Anti-Submarine Rocket หรือตอร์ปิโด
ส่วนการปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฎิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีแบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ
ขณะที่การป้องกันทางอากาศระยะไกล (ผิวน้ำ) หรือพื้นที่ชั้นนอกของกองเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับ โจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ สามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ
ด้านการป้องกันตนเองนั้น จะโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี ปืนใหญ่เรือ และปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารถตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้
นอกจากนี้ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ยังสามารถใช้ในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ได้แก่ ร.ล.จักรีนฤเบศร เรือฟริเกตชุด เรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวตชุด เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับ เครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก
ด้วยศักยภาพและสมรรถนะที่แข็งแกร่งของเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ทางกองทัพเรือจะนำเรือไปใช้ในภารกิจยามสงคราม ป้องกันอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย รวมไปถึงคุ้มกันกระบวนเรือลำเลียง นอกเหนือจากนั้นในยามสงบจะดูแลรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ และรักษากฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของกองทัพเรือ
cr. news.mthai.com
https://www.lapluangprangchannel.com/?p=8425&fbclid=IwAR0dlfy4m4girwhbjKOkzTXgeaQJLbW9wGOYCWeQIzZ6_WHdQVX_MWHtF54
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น