สำหรับพิธีสวนสนามทางเรือที่จัดให้มีขึ้นในครั้งนี้ มีเรือหลวงอ่างทองเป็นเรือรับรอง เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เป็นเรือยิงสลุต ในส่วนเรือที่เข้าร่วมสวนสนามรวมทั้งสิ้น 8 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศ เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงตาปี เรือหลวงท้ายเหมือง เรือหลวงสุรินทร์ เรือหลวงถลางและ เรือหลวงมาตรา พร้อมอากาศนาวีอีกจำนวนหนึ่ง
พิธีสวนสนามทางเรือ
เป็นพิธีที่สำคัญพิธีหนึ่งของทหารเรือ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลสำคัญๆ ของประเทศหรือต่างประเทศตามที่จะเห็นสมควร พิธีสวนสนามทางเรือของกองทัพเรือ เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ในปี พ.ศ.2457 กองทัพเรือได้จัดให้มีพิธีสวนสนามทางเรือขึ้นตามแบบประเทศตะวันตก พิธีสวนสนามทางเรือคงจะนำแบบอย่างมาจากพิธี CORONATION REVIEW ของอังกฤษซึ่งเป็นธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินภายหลังจากพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินตรวจเรือ พิธีนี้ได้กระทำขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย
ในปี พ.ศ.2496 ทางอังกฤษได้จัดให้มีพิธีพระบรมราชาภิเษกสมเด็จพระนางเจ้าอาลิซาเบธที่ 2 รัฐบาลไทยได้รับเชิญให้ส่งเรือหลวงเข้าร่วมพิธีด้วย กองทัพเรือได้ส่ง เรือหลวงโพสามต้น ไปร่วมพิธีโดยได้เดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2496 แล้วเข้าร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2496 และได้เดินทางกลับถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2496
ต่อมาในปี พ.ศ.2497 กองทัพเรือได้จัดให้มีพิธีสวนสนามทางเรือขึ้นตามแบบประเทศตะวันตกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2497 ณ บริเวณบางแสน จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพลเรือ ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น
พิธีสวนสนามทางเรือของทหารเรือตามแบบประเทศตะวันตก ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นพิธีที่สำคัญของทหารเรือพิธีหนึ่ง สถานที่ที่จะใช้ในการสวนสนามก็เปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ส่วนเครื่องบินที่ร่วมในพิธีสวนสนามทางเรือในปัจจุบันใช้เครื่องบินของทหารเรือ /ThaiArmedForce.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น