หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562

พิธีปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลงน้ำ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงประกอบพิธี ปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ลงน้ำ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ลงน้ำ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00 น. โดยมี พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เป็นโครงการที่กองทัพเรือขออนุมัติกระทรวงกลาโหมดำเนินการต่อขึ้นจากแบบเรือที่กองทัพเรือมีใช้ราชการ ด้วยการน้อมนำและยึดถือการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามกระแสพระราชดำรัสที่ทรงรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล และผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ณ วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2545 ที่ว่า “กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม” ซึ่งกองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่กองทัพเรือมีใช้ในราชการ โดยมีมติให้ใช้แบบเรือของเรือหลวงกระบี่ ที่กองทัพเรือได้ต่อขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เป็นแบบพื้นฐานในการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ พร้อมกับเสนอแนะให้ปรับปรุงข้อบกพร่องในส่วนต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงปัตตานี และเรือหลวงกระบี่ี่ เพื่อให้เรือลำใหม่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมมากขึ้นในการตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรืออนุมัติให้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ทั้งนี้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สอง เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมายในทะเล และการปฏิบัติการรบผิวน้ำ รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออื่นๆ เพื่อให้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 นี้ ปฏิบัติการตามภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สอดคล้องกับพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานในพิธีวางกระดูกงู เรือ ต.91 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2510 ณ กรมอู่ทหารเรือ ที่ว่า “การป้องกันประเทศทางทะเลเป็นหน้าที่โดยตรงและสำคัญที่สุดของกองทัพเรือ หน้าที่นี้เป็นภาระหนักที่ต้องอาศัยทหารซึ่งมีความรู้ความสามารถและเรือรบจะมีคุณภาพดี ประกอบพร้อมกันไป บรรดาเรือรบที่ใช้ในราชการเป็นเรือที่สั่งทำจากต่างประเทศ การที่ทางราชการกองทัพเรือสามารถเริ่มต่อเรือยนต์รักษาฝั่งขึ้นใช้ในราชการได้เช่นนี้ จึงควรจะเป็นที่น่ายินดี และน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง นับว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าสำคัญก้าวหนึ่งของกองทัพเรือ”
สำหรับการดำเนินโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เฉลิมพระเกียรติฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 - 2561 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นการจัดหาเฉพาะระบบตัวเรือ จำนวน 1 ลำ ประกอบด้วยแบบและพัสดุในการสร้างเรือ พร้อมระบบสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงรวม และการบริการทางด้านเทคนิค ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 – 2561 ระยะที่ 2 การจัดหาระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ และระบบอาวุธ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2559 – 2561 ดำเนินการสร้างเรือ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช โดยการดำเนินงานทั้ง 2 ระยะ ได้ดำเนินการตามแผนเสร็จสิ้นแล้ว จึงกล่าวได้ว่า กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพ และความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของต่างประเทศ แต่ถือเป็นการสร้างเรือขนาดใหญ่ด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช นับได้ว่าเป็นอู่ซ่อมเรือที่มีขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถให้บริการซ่อมบำรุงเรือทุกขนาดที่กองทัพเรือมีประจำการ

คุณลักษณะทั่วไปของเรือ
- ความยาวตลอดลำ 90.50 เมตร กว้าง 13.50 เมตร
- ความยาวที่แนวน้ำ 83.00 เมตร กินน้ำลึก 3.70 เมตร
- ระวางขับน้ำไม่น้อยกว่า 1,960 ตัน
- ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 23 นอต (ที่ Full load)
- ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 3,500 ไมล์ทะเล (ที่ความเร็วเดินทางไม่ต่ำกว่า 15 นอต)
ระบบอาวุธประจำเรือ
- ปืนขนาด 76/62 มิลลิเมตร แบบอัตโนมัติ รุ่น Multi – Feeding Vulcano Super Rapid จำนวน 1 ระบบ
- ปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร แท่นเดี่ยว รุ่น Seahawk MSI-DS30MR จำนวน 2 กระบอก
- ปืนกลขนาด 0.50 นิ้ว M2 จำนวน 2 กระบอก
- อาวุธปล่อยนำวิธีพื้นสู่พื้น Harpoon Block II แบบ Advanced Harpoon Weapon Control System จำนวน 1 ระบบ ประกอบด้วย 2 แท่น แท่นละ 4 ท่อยิง
- ระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ 1 ระบบ ประกอบด้วย ระบบอำนวยการรบ ระบบควบคุมการยิง ระบบตรวจการณ์ ระบบเดินเรือแบบรวมการ ระบบสื่อสารแบบรวมการ และการออกแบบให้มีขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์
- เครื่องยิงเป้าลวง ( Decoy Launcher ) จำนวน 2 แท่น
ขีดความสามารถ (Combat Capability)
- สามารถออกปฏิบัติงานในทะเลอย่างต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม
- สามารถปฏิบัติการได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5)
- สามารถตรวจการณ์ และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้าและเป้าอากาศยานได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
- สามารถโจมตีเป้าพื้นน้ำในระยะพ้นขอบฟ้าได้ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี
- สามารถป้องกันภัยทางอากาศในระยะประชิดได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ
- สามารถทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์โดยติดตั้งอุปกรณ์ ESM และออกแบบให้รองรับการติดตั้งเชื่อมต่อการใช้งานระบบเป้าลวงได้
- สามารถปฏิบัติงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่ต่ำกว่า 11.5 ตัน ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
- สามารถรองรับกำลังพลได้ไม่น้อยกว่า 115 นาย (กำลังพลประจำเรือ 99 นาย และปฏิบัติการทางอากาศ 16 นาย)
ประวัติความเป็นมาของพิธีปล่อยเรือลงน้ำ นับตั้งแต่ที่มนุษย์รู้จักสร้างเรือ เท่าที่มีประวัติไว้ประมาณ 2100 ปี ก่อนคริสต์ศาสนา ก่อนปล่อยเรือลงน้ำ จะต้องประกอบพิธีทางศาสนาเสียก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เรือลำนั้นๆ ซึ่งตามประวัติที่มีนั้น แต่ละชนชาติก็จะมีความเชื่อและการประกอบพิธีที่แตกต่างกันออกไป ชาวเกาะตาฮิตี ทำพิธีสังเวยด้วยเลือดมนุษย์ ชาวจีนสร้างสถูปไหว้เจ้าและสร้างที่สำหรับแม่ย่านางเรือสิงสถิต ชาวอียิปต์และกรีกโบราณจะประดับเรือด้วยพวงดอกไม้ และใบไม้ที่มีกลิ่นหอม พระจะทำพิธีมอบเรือแก่พระสมุทร ขณะที่เรือเลื่อนลงน้ำ จะมีการเทเหล้าไวน์ลงบนเรือหรือบนดิน เพื่อเป็นการสังเวยให้พระสมุทรปกปักรักษาเรือลำนั้น

ต่อมาในสมัยกลางที่เกิดคริสต์ศาสนาขึ้น พิธีปล่อยเรือลงน้ำมีลักษณะเป็นพิธีที่ใหญ่โตมาก จะมีการประดับประดาเรือด้วยดอกไม้ พระจะประสาทพรและกล่าวอุทิศเรือแก่นักบุญที่ยิ่งใหญ่องค์ใดองค์หนึ่ง และดื่มแชมเปญหรือไวน์อวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วให้ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือ ปรากฎว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดแชมเปญหรือไวน์กับหัวเรือแทน

ราชนาวีอังกฤษเริ่มให้สุภาพสตรีที่สูงศักดิ์เป็นผู้ประกอบพิธี ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 คราวหนึ่งสุภาพสตรีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ ฝรั่งเศสไม่ใช้เหล้าไวน์ในการประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แต่เปลี่ยนเป็นเลี้ยงแขกในพิธีด้วยเหล้าไวน์อย่างดีแทน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ใช้นกร่วมในพิธีด้วย โดยการปล่อยนกพิราบจากกรงขณะที่เรือเคลื่อนลงน้

สหรัฐนาวีประกอบพิธีทำนองเดียวกับราชนาวีอังกฤษ แต่บางครั้งก็มีแตกต่างออกไป เช่น ใช้เหล้าผสมน้ำแทนเหล้าบริสุทธ์ ใช้นกพิราบผูกริบบิ้นสีแดง ขาว และน้ำเงิน ตัวละสี จำนวน 3 ตัว หรือใช้ผู้ประกอบพิธี 3 คน แต่ละคนถือขวดน้ำ ซึ่งนำน้ำมาจากแม่น้ำและทะเลที่ตนนับถือ สำหรับต่อยหัวเรือให้ขวดแตก

ชาวเรือไม่ยอมลงเรือลำใดที่ไม่ได้ทำพิธีปล่อยให้ถูกต้อง เพราะเชื่อกันว่าเรือแต่ละลำมีวิญญาณ ถ้าทำพิธีไม่ถูกต้อง แล้วจะถูกสาปให้ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ มีเรื่องเล่ากันว่า เรือรบอเมริกัน USS Constitution ไม่ยอมเคลื่อนลงน้ำถึง 2 ครั้ง เมื่อใช้ขวดน้ำแทนเหล้า จนครั้งที่ 3 พลเรือจัตวา James Sever จึงสั่งให้เอาขวดเหล้าไวน์ Madeira มาต่อยที่หัวเรือ เรือจึงยอมเลื่อนลงน้ำไป

สำหรับการที่ต้องปล่อยเรือโดยการเอาท้ายเรือลงน้ำนั้น ก็เนื่องจากท้ายเรือป้าน มีกำลังลอยมากกว่าทางหัวเรือซึ่งแหลม ถ้าเอาหัวเรือลงอาจทำให้น้ำเข้าและจมได้ อีกประการหนึ่งหัวเรือแหลมเมื่อเคลื่อนลงน้ำแล้ว ด้วยน้ำหนักตัวของเรือจะมีแรงเคลื่อนพุ่งไปข้างหน้าไกลหรือกำลังแรง ลำบากในการยึดเหนี่ยว การเอาท้ายเรือลงจึงสะดวกกว่า
พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวีไทย เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่า คงจะมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยนั้นกองทัพยังไม่ได้แบ่งแยกเป็นกองทัพบกหรือกองทัพเรืออย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน นับตั้งแต่ กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรือรบก็สร้างด้วยไม้ ถ้าเป็นเรือรบที่ใช้รบในแม่น้ำก็จะเป็นเรือที่มีขนาดเล็ก ส่วนเรือที่ใช้รบในทะเล หรือเรือที่ใช้ในการค้าขายก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น เรือสำเภา เรือกำปั่น เป็นต้น

พิธีปล่อยเรือลงน้ำที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454
 
ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาชากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

สำหรับเรือหลวงตัวเรือเป็นเหล็กที่ต่อสร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ได้แก่ เรือหลวงสัตหีบ โดย คุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น เป็นประธานประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500

ในปัจจุบันได้กำหนดพิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวีไทย โดยพิธีประกอบด้วย สุภาพสตรีผู้ประกอบพิธี กล่าวเชิญมิ่งขวัญและมงคลสู่เรือ เจิมหัวเรือ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และตัดเชือกปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ

ในประเทศ มีพิธีทางศาสนา ผู้ประกอบพิธีเป็นสุภาพสตรี อาจเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ หรือภริยานายทหาร หรือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่กองทัพเรือพิจารณาเห็นสมควร ในต่างประเทศ สุภาพสตรีผู้ประกอบพิธี อาจเป็นภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศนั้นๆ หรือตามที่กองทัพเรือจะพิจารณา ส่วนกำหนดเวลาประกอบพิธี แล้วแต่ฤกษ์
--------------------------------------------------------------
ประมวลภาพพิธีปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลงน้ำ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น