หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความจำเป็นสำหรับการมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย


จากการที่ประเทศไทยของเราโดยกองทัพเรือเคยมีประจำการด้วยเรือดำน้ำ จำนวน 4 ลำ (ร.ล.มัจฉาณุ, ร.ล.วิรุณ, ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล) ขึ้นระวางประจำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 พร้อมกันทั้ง 4 ลำ หรือเมื่อ 73 ปี ที่แล้ว โดยเรือชุดดังกล่าวนี้ต่อที่อู่ บริษัท มิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2479 อันเป็นไปตามโครงการจัดสร้างกำลังรบทางเรือสำหรับป้องกันประเทศ ให้เข้มแข็ง และทันสมัยขึ้น ซึ่งในสมัยนั้น เรือดำน้ำเป็นกำลังรบที่ใหม่ ทรงอานุภาพทางทะเลมากที่สุด เพราะสามารถกำบังตัว หรือหลบหนีด้วยการดำน้ำ สามารถเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ซึ่งเรือผิวน้ำไม่สามารถเข้าไปได้ และมีอาวุธตอร์ปิโดอันเป็นอาวุธสำคัญที่เป็นอันตรายแก่เรือผิวน้ำมากที่สุด ไม่มีเครื่องมือค้นหา และอาวุธปราบเรือดำน้ำที่จะทำอันตรายแก่เรือดำน้ำได้ ดังเช่นปัจจุบันนี้ จึงนับได้ว่าเรือดำน้ำ เป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง


เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ของกองทัพเรือได้ถูกใช้งานตามภารกิจในการป้องกันประเทศอย่างมากมาย โดยครั้งสำคัญก็เป็นกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งได้สร้างความหวาดหวั่นแก่ข้าศึกอย่างมาก เพราะหลังจากยุทธนาวีที่เกาะช้าง ระหว่างราชนาวีไทย กับ กองเรือรบอินโดจีนฝรั่งเศส โดยทางฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบจำนวนหลายลำเข้าสู่อ่าวไทย เพื่อหวังรุกราน และบีบบังคับให้ไทยยอมแพ้ แต่ก็ได้รับการต้านทานจากฝ่ายไทยอย่างเข้มแข็ง เกิดการรบกันทางทะเลระหว่างกองเรือรบของทั้งสองฝ่าย ซึ่งทหารเรือไทยได้สร้างวีรกรรมอันเป็นที่จดจำ จนได้รับยกย่องและยอมรับนับถือทั้งจากคนในชาติและจากฝ่ายศัตรู ในเลือดนักสู้ของลูกราชนาวีไทย ที่ได้ทำการต่อสู้เพื่อปกป้องมาตุภูมิของตนเองด้วยความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ แม้การรบครั้งนี้จะทำให้เราต้องสูญเสีย เรือรบหลวงธนบุรี และเรือตอร์ปิโด พร้อมด้วยลูกเรือจำนวนหนึ่งต้องพลีชีพไป แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็ได้รับความบอบช้ำและได้รับความเสียหายอยู่มากเช่นกัน จนได้ล่าถอยและถอนกำลังออกจากอ่าวไทย ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่ฝรั่งเศสรู้ว่าเรามีเรือดำน้ำ จึงมีความหวั่นเกรง โดยต้องรีบถอนกำลังกลับเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการโจมตีของเรือดำน้ำไทย และนั่นเป็นการรุกรานไทยด้วยกองเรือรบของฝรั่งเศสเพียงครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในตอนนั้น เพราะหลังจากนั้นมันไม่เกิดขึ้นอีกเลย ...


จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 หลังจากที่เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับใช้กองทัพเรือไทยและประเทศชาติอยู่เป็นเวลา 13 ปี มันจึงได้ถูกปลดระวางประจำการไป เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นผู้แพ้สงคราม ต้องปฏิบัติตามพันธสัญญาของผู้แพ้สงครามที่ทำกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะ โดยห้ามไม่ให้มีการผลิตเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับทางทหาร และอยู่ในช่วงที่ญี่ปุ่นต้องทุ่มเททรัพยากรต่างๆ ไปในการฟื้นฟูประเทศภายหลังสงคราม ทำให้กองทัพเรือไทยไม่สามารถคงการใช้งานเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ไว้ได้ เนื่องจากการขาดแคลนอะไหล่ที่จำเป็นสำหรับการซ่อมบำรุงเรือให้ใช้งานต่อไปได้ และเหตุผลอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพันธสัญญาของสงครามและเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ จากประเทศมหาอำนาจ ..

จากที่เกริ่นนำมา ก็ได้ทราบแล้วว่าเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ของเราถูกปลดระวางประจำการไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นับถึงปัจจุบัน ประเทศไทยโดยกองทัพเรือไทยจึงได้ว่างเว้นจากการมีเรือดำน้ำมาแล้วเป็นเวลา 60 ปี .. โหนี่ตั้ง 60 ปีนะ บางทีผมก็มานั่งคิดเล่นๆ มันเป็นเพราะอะไร ทำไมเราว่างเว้นการมีเรือดำน้ำนานขนาดนั้น ช่วงเวลาที่ว่างเว้นมันก็หมายถึงว่าเราได้ห่างหายหรือขาดหายไปจากเทคโนโลยี ความรู้ และความคุ้นเคยในการใช้งานเรือดำน้ำ รวมถึงองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการของเรือดำน้ำ ช่วงเวลาห่างหายหรือขาดหายไปนั้นผมก็มาตั้งคำถามว่า:-

1.ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศทางทะเลของเราเปลี่ยนไปหรือไม่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพราะเหตุใดช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่เราได้ปลดระวางเรือดำน้ำชุดแรกไปแล้ว ภายหลังจากนั้นทำไมจึงไม่มีความพยายามในการจัดหาเรือดำน้ำชุดต่อมาให้เข้าประจำการอย่างต่อเนื่องกัน?
2.ประเทศเราไม่มีภัยคุกคามทางทะเลในทางมิติใต้น้ำใช่หรือไม่?
3.หรือเพราะอะไร?..

แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมพยายามจะหาเหตุผล ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร "ทำไมเราจึงไม่มีเรือดำน้ำ"


จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีตผมจะไม่ไปคิดให้ปวดหัวแล้ว กลับมาสู่ปัจจุบัน มีคำถามว่าจำเป็นไหมที่เราจะมีเรือดำน้ำ.. ตอบให้ตรงนี้ได้เลยว่า "จำเป็นมาก" (มากกว่าในอดีต) เพราะอะไร

1.ที่ตั้งทางภูมิศาตร์ของประเทศไทยถูกปิดล้อมทางทะเลได้ง่าย
2.เศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้า คิดเป็นมูลค่ามหาศาลต่อปี ซึ่งการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศต้องพึ่งพาการขนส่งทางทะเลกว่า 90 %
3.ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลจำนวนมหาศาลที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง (แหล่งทรัพยากรท่องเที่ยว การประมง แหล่งก๊าชธรรมชาติ แหล่งน้ำมัน การค้าทางทะเล ..)
*ประเทศไทยมีความยาวของชายฝั่งทะเลรวมฝั่งอ่าวไทยและอันดามันกว่า 2,815 กิโลเมตร ใน 23 จังหวัด มีอาณาเขตทางทะเลกว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของอาณาเขตทางบกที่มีอยู่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร
4.ปัญหาความขัดแย้งด้านเขตแดนและผลประโยชน์ทางทะเลกับประเทศรอบบ้าน (มีความไม่แน่นอน) และอาจจะขยายบานปลายไปสู่การใช้กำลังรบอย่างเต็มรูปแบบ
5.ภัยคุกคามทางทะเลในมิติใต้น้ำ เนื่องจากประเทศรอบบ้านหลายประเทศมีประจำด้วยเรือดำน้ำ และมีบางประเทศในภูมิภาคนี้ก็กำลังมีการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ รวมทั้งบางประเทศก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตอันใกล้ก็จะมีการจัดหาเข้าประจำการด้วยเช่นกัน
6.เพื่อผลในการป้องปรามและเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจา


และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นผมขอยกตัวอย่างสถานการณ์สมมุติที่อาจจะเกิดขึ้นได้สำหรับกรณีที่เรามีความขัดแย้งกับบางประเทศจนถึงขั้นต้องตัดสินปัญหาด้วยการต้องทำสงครามกันอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามนั้นมีศักยภาพทางทหารไม่แพ้กันกับเราและเหนือกว่าเราในบางส่วน ดังเช่น ถ้าเกิดฝ่ายตรงข้ามเขามีเรือดำน้ำแต่เราไม่มี และเขาได้ส่งเรือดำน้ำจำนวนหนึ่ง มาปิดอ่าวไทย เพื่อหวังผลให้เกิดความปั่นป่วน และการหยุดชงักของระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามทราบว่าเศรษฐกิจของประเทศเราต้องพึ่งพาการส่งออกและต้องมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านเข้าออกช่องทางทางทะเลกว่า 90% เมื่อเรือสินค้าไม่ยอมเอาเรือออกจากท่าเนื่องจากเกรงกลัวภัยจากเรือดำน้ำ การขนส่งสินค้าไปสู่ผู้ซื้อผู้ขายในต่างประเทศก็ทำไม่ได้ ส่งผลถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ก็หยุดชงักไปด้วย.. ซึ่งก็มีคำถามว่าแล้วกำลังรบส่วนอื่นของเราที่ไม่ใช่เรือดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรือรบผิวน้ำน้อยใหญ่ประเภทต่างๆ ที่มีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำ เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ และยุทโธปกรณ์ทางทหารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่เรามีอยู่ไม่สามารถรับมือได้หรือ ขอบอกว่าได้ แต่ไม่เพียงพอ มีความสิ้นเปลือง และมีผลทางจิตวิทยาในด้านการสร้างความหวาดเกรงได้น้อยกว่าเรือดำน้ำ เพราะอะไรหรือ เพราะสิ่งเหล่านี้มันอยู่เหนือน้ำไง มองเห็นได้ง่ายกว่า และถูกตอบโต้กลับได้เช่นเดียวกัน ต่างจากเรือดำน้ำที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แค่การมีอยู่ของเรือดำน้ำในพื้นที่ปฏิบัติการเพียงแค่ 1-2 ลำ ฝ่ายตรงข้ามที่คิดจะยกกำลังเข้ามาในอ่าวไทย ก็หวาดระแวงภัยจากเรือดำน้ำแล้ว ได้ผลในแง่ของจิตวิทยา ฝ่ายตรงข้ามไม่กล้าผลีผลาม เท่านี้ก็เกินคุ้มแล้วสำหรับการป้องปราม


ดังนี้แล้วผมก็มีคำถามกับท่านทั้งหลายว่า จำเป็นไหมที่กองทัพเรือไทยต้องมีเรือดำน้ำ?

By Sukom / www.thaidefense-news.blogspot.com

3 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าเป็นของใหม่ประเทศเจริญ แต่ 100% เป็นของเก่า ราคาของใหม่(แพง)

    ตอบลบ
  2. อยากให้มีเรือดำน้ำเร็วๆจังอย่างน้อยปี 57-59 คงจะดีนะประเทศเรา ประเทศค่างๆเขามีหมดแล้ว
    อย่ามัวแต่รบกันเองเลย รักษาประเทศดีกว่า

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ16 ธันวาคม 2556 เวลา 00:40

    อยากให้มีเรือดำน้ำสัก8ลำ

    ตอบลบ