หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2019

ปิดม่านการฝึกรบร่วมทางการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซี่ยนแล้วสำหรับการการฝึกคอบร้าโกลด์ ประจำปีนี้ แม้จะเป็นการฝึกในวงรอบ Light year ตามวงรอบการฝึกที่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงของภูมิภาคอาเซี่ยน แต่การจำลองสถานการณ์การดำเนินการยุทธด้วยกระสุนจริง (CALFEX) ที่สนามใช้อาวุธบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ก็ยังเต็มไปด้วยความเข้มข้น โดยฝ่ายสหรัฐจัดกำลังร่วมระหว่างกองทัพบกและนาวิกโยธิน พร้อมด้วยระบบยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมาฝึกร่วมกับกำลังของกองทัพบกและกองทัพอากาศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

ไฮไลท์การฝึกในครั้งนี้คือการนำเอารถถังหลักแบบ M1A1 FEP อบรามส์ ของหน่วยนาวิกโยธิน กองพันรถถังที่ 4 ชาร์ลีคอมพานี ที่มาไกลจากฐานในรัฐไอดาโอ นับเป็นครั้งที่ 2 ของรถถังหลักแบบนี้ที่ได้กลับมาร่วมการฝึกหลังจากว่างเว้นไม่ได้มาร่วมการฝึกรายการนี้กว่า 10 ปี พร้อมกับระบบแท่นยิงจรวดอัตตาจร HIMARS M142 จรวดโจมตีระยะไกลขนาด 227 มม.ที่มาร่วมการฝึกด้วยการยิงลูกจริงเป็นครั้งแรก
ส่วนกำลังทหารราบเป็นกำลังของกรมทหารราบที่ 2 “อินเดียนเฮด” ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยรบชั้นแนวหน้าของสหรัฐที่มีความผูกพันกับกองทัพบกไทยมาตั้งแต่สงครามเกาหลี เพราะนี้คือหน่วยที่ทหารไทยได้เข้าร่วมในสังกัดขณะเดินทางไปร่วมปฏิบัติงานในสงครามเกาหลี โดยพวกเขาได้ให้กองทหารไทยได้ติดตราสัญลักษณ์ของศรีษะอินเดียนอยู่ที่หัวไหล่เช่นเดียวกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรบเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันในสงครามครั้งนั้น ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้ กำลังพลของกรมทหารราบที่ 2 ยังติดอยู่ที่หัวไหล่ของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้


ยุทธยานยนต์ที่เป็นกำลังหลักในการดำเนินการยุทธในการฝึกครั้งนี้คือรถรบสไตร์เกอร์ ยานเกราะ 8 ล้อ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างใหม่ของกองทัพบกสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการลำเลียงพลในสนามรบได้อย่างคล่องตัว จากจำนวนที่ส่งเข้าร่วมการฝึกกว่า 20 คัน มีรูปแบบทีแตกต่างกันไปทั้งรุ่นลำเลียงพล, รุ่นติดปืนครก 120 มม., รถลาดตระเวนตรวจการณ์, รถบัญชาการ และรถกู้ซ่อม โดยเป็นการจัดกำลังจากกำลังยานเกราะของกรมทหารราบที่ 20 ที่มีที่ตั้งอยู่ที่รัฐวอชิงตัน

ฉากในการสาธิตในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นรูปแบบการปฏิบัติงานทางยุทธวิธียุคปัจจุบัน ที่ใช้การผสมผสานกันระหว่างเหล่าทัพโดยใช้ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ทำหน้าที่เป็นหัวหอกทำลายแนวป้องกันของข้าศึกอันเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันโดยเริ่มจากการยิงสนับสนุนระยะไกลจากปืนใหญ่ 155 มม. และจรวดโจมตีแบบ HIMARS ที่เปิดตัวในการฝึกครั้งนี้เป็นครั้งแรก จากนั้นจึงเริ่มฉากการรุกภาคพื้นร่วมกัน ระหว่างรถถัง M1 และรถถังสตริงเรย์ของ ม.3พัน26 และใช้กำลังยานยนต์ล้อยางลำเลียงกำลังพลเข้าสู่พื้นที่โดยรถหุ้มเกราะ BTR และรถสไตร์เกอร์ ที่มีการคุ้มครองทางอากาศโดยเครื่องบินรบแบบ F-16 และอัลฟ่าเจ็ต ทำการสนับสนุนการโจมตีจากทางอากาศอย่างใกล้ชิด ภายใต้การส่งข้อมูลภาพแบบเรียลไทม์จากยาน UAV แอร์โร่สตาร์ของฝูงบิน 404 ส่วนภารกิจการส่งกำลังเสริมทางอากาศเป็นภารกิจของเฮลิคอปเตอร์แบบแบล็คฮอว์คของกองทัพบก และการลำเลียงส่งกลับทางการแพทย์ปฏิบัติภารกิจโดนฮ.EC-725 ของกองทัพอากาศ

แม้จำนวนกำลังพลจะไม่มีจำนวนมากเท่ากับการฝึกใน Heavy year แต่การฝึกในครั้งนี้ยังทำให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการทหารของสหรัฐฯ ที่โดดเด่นในด้านความแม่นยำ โดยเฉพาะการคำนวณหาเป้าหมายและใช้อาวุธระยะไกลทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และอุปกรณ์แสดงผลการยิงที่ทำให้สามารถตรวจสอบวิถีการยิง และจำลองผลการปฏิบัติงานเข้าตีของทุกให้เห็นภาพร่วมกันได้อย่างชัดเจน

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีปิดการฝึก พลเรือเอกฟิลิป เอส เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด–แปซิฟิก ได้กล่าวย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการฝึกคอบร้าโกลด์ที่จะสะท้อนถึงการเพิ่มความร่วมมือกันของเหล่าชาติในภูมิภาคในฐานะมิตรสำคัญของสหรัฐในการฝึกครั้งต่อไป และพวกเขาจะเริ่มประชุมแผนงานสำหรับรูปแบบการฝึกครั้งต่อไปทันทีในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้การฝึกรายการนี้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม.../
ThaiArmedForce.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น