หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

กองทัพเรือได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการจัดซื้อเรือฟริเกต.. และปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร ระยะที่ 2

จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 18 กันยายน 2555 ซึ่ง ครม.ได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ

1. การอนุมัติโครงการของกองทัพเรือในการจัดหาเรือฟริเกต จำนวน 2 ลำ วงเงิน 30,000 ล้านบาท ระยะดำเนินการ 5 ปี ปี 2555 - 2559 

2. การอนุมัติเงินก่อหนี้ผูกพันปีงบประมาณ 2555 - 2557 ระยะเวลา 3 ปี โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร ระยะ 2 มูลค่า 3,297,821,775 บาท โดยงบประมาณปี 2555 เป็นเงิน 495 ล้านบาท, งบประมาณปี 2556 เป็นเงิน 1,335 ล้านบาท, งบประมาณปี 2557 เป็นเงิน 1,467 ล้านบาท 

3. การอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2555 - 2557 โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบใช้งานทั่วไปของกองทัพบก ระยะ 1 ห้วงที่ 3 มูลค่า 2,817,981,515 บาท

*สำหรับในกรณีของการอนุมัติโครงการของกองทัพเรือในการจัดหาเรือฟริเกต จำนวน 2 ลำ ต่อมา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ทางกระทรวงกลาโหม โดย พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่าการจัดซื้อเรือฟริเกต เป็นการซื้อทีละ 1 ลำ โดยแบ่งเป็น 2 เฟส โดยระบุว่าการจัดซื้อเรือฟริเกตในครั้งนี้ เพื่อนำไปปฏิบัติภารกิจ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภารกิจต่อต้านเรือดำน้ำ ทดแทนเรือฟริเกต 2 ลำเก่าทีเตรียมปลดประจำการ ซึ่ง พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุเพิ่มเติมว่า โครงการจัดหาเรือฟริเกต 2 ลำ วงเงิน 30,000 ล้าน กองทัพเรือจำเป็นต้องจัดหาอย่างเร่งด่วนในปีงบประมาณ 2555 เพื่อชดเชยและถ่วงดุลกำลังอำนาจ ต้านเรือดำน้ำด้วยการเพิ่มเติมขีดความสามารถด้านการปราบเรือดำน้ำ และแทนเรือฟริเกตที่จะปลดประจำการ เฟสแรก 1 ลำ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาในระหว่างปี 2555 - 2559 และ เฟส 2 ในปี 2557 - 2561 อีก 1 ลำ

กองทัพเรือได้รับอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการจัดซื้อเรือฟริเกตุ 2 ลำ 

กองทัพเรือได้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรีในการจัดซื้อเรือฟริเกตุ 2 ลำ ในงบประมาณผูกพัน 4 ปี วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยกองทัพเรือจะได้ดำเนินการคัดเลือกแบบเรือฟริเกตุแบบใหม่ต่อไป รวมถึงอนุมัติโครงการปรับปรุงเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสินในเฟสที่ 2 อีกด้วย

ปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือฟริเกตุเข้าประจำการในสองกองเรือ คือกองเรือฟริเกตุที่ 1 และกองเรือฟริเกตุที่ 2 ประกอบไปด้วยเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ และเรือหลวงปิ่นเกล้า โดยเรือฟริเกตุที่มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำมีอยู่คือเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน ซึ่งติดตั้งจรวดแบบ AGM-84 Harpoon เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง ติดตั้งจรวดแบบ C-801 และเรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรีติดตั้งจรวดแบบ C-802A

ในจำนวนเรือฟริเกตุที่กล่าวถึงนี้ มีเพียงเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสินที่ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสินกำลังทำการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในเฟสที่ 1 คือ การติดตั้งระบบอำนวยการรบ 9LV เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 แท่นยิงอาวุธปล่อยทางดิ่ง Mk.41 และจรวดต่อสู้อากาศยาน RIM-162 Evolved Sea Sparrow Missile ทำให้กองทัพเรือมีความเสี่ยงสูงในการปฏิบัติการสงครามตามแบบในกรณีที่กองเรือของไทยถูกอากาศยานข้าศึกเข้าโจมตี ซึ่งในอาเซียนมีเครื่องบินรบที่มีจรวดต่อต้านเรือรบที่ติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่ใช้งานเช่น AGM-84 Harpoon ติดตั้งกับ F/A-18D และ Kh-31 ติดตั้งกับ Su-27 และ Su-30 อาจทำให้กองเรือไม่มีอาวุธที่จะป้องกันตัวเองจากจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำได้

ในเฟสที่ 2 เรือหลวงนเรศวรอาจจะทำการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ระบบต่อต้านเรือดำน้ำ ระบบเป้าลวง รวมถึงอาจจัดซื้อจรวดต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติม โดยแท่นยิง Mk.41 จำนวน 8 ท่อยิงที่ติดตั้งบนเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสิน จะสามารถติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานได้ลำละ 32 นัด ในส่วนของเรือฟริเกตุที่กำลังจะจัดหาใหม่นั้น คาดว่าจะมีการติดตั้งจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำพิสัยกลาง จรวดต่อสู้อากาศยาน รวมถึงระบบอาวุธและระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานข่าวว่ากองทัพเรือจะจัดหาเรือจากประเทศใด / ที่มา: http://dtad.dti.or.th/


ข้อมูลอ้างอิงจาก: Wassana Nanuam และ  http://dtad.dti.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น