กองทัพเรือ เผย แผนจัดหาเรือOPV ตรวจการณ์ไกลฝั่ง ลำที่ 2 งบฯ ปี 2559-2561 รวม 5,482,930,000 บาท ราคาสูงขึ้น เพราะติดอาวุธ ปืนหลัก-ปืนรอง เพิ่ม พร้อมจรวดนำวิถี /ตั้ง "พลเรือเอก พลเดช เจริญพูล"ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ เป็นประธานกรรมการฯ /เผย เรือหลวงกระบี่ OPV ลำแรก งบฯ ปี 2551- 2554 ใช้งบฯ2,931,285,884 บาท/ ยันโปร่งใส รอบคอบ เหมาะสมกับสภาวะประเทศ/ เผย ยึดต้นแบบในหลวงทรงให้ คนไทยต่อเรือเอง ทร.ให้อู่กรุงเทพฯ ต่อ
พลเรือโท จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ แถลงข่าวโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ลำที่ 2 ของทร.
อันเป็น โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ลำที่ 2 ของกองทัพเรือ เป็นส่วนหนึ่งของ "แผนการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ" เพื่อรองรับกับบทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือในด้านการปฏิบัติการทางทหาร ในการป้องกันประเทศ การรักษากฎหมาย และการช่วยเหลือประชาชน
เพื่อให้มีขีดความสามารถในการลาดตระเวนตรวจการณ์รักษาฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ตลอดจนการรักษากฎหมายในทะเล ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
โดยกองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาซื้อขายแบบเรือและพัสดุ กับ บริษัท
อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัด กระทรวงกลาโหม
โดยใช้แบบเรือของ "เรือหลวงกระบี่" เป็นแบบพื้นฐานในการปรับปรุงแบบเรือและการส่งมอบพัสดุ
โดยแบบเรือดังกล่าว มีต้นแบบมาจากแบบเรือของ บริษัท BAE Systems Ships จำกัด จากประเทศอังกฤษ
ส่วนการดำเนินการในส่วนอื่น ๆ นั้น อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ จะดำเนินการประกอบตัวเรือ การต่อบล็อคเรือ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ของเรือ และกรมสรรพาวุธทหารเรือจะดำเนินการในส่วนของระบบอาวุธ
โดยใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับเรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง กับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือในการต่อเรือตรวจการณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.991 และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.994 ที่ได้มีการขยายแบบเรือ และรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จนมาถึง เรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็น เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกที่กองทัพเรือต่อขึ้นเอง
ในโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีจำนวน 2 ลำ โดยลำแรกคือ เรือหลวงกระบี่อยู่ในงบประมาณระหว่างปี 2551 - 2554 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 2,931,285,884 บาท
ในลำที่สองในงบประมาณระหว่างปี 2559 – 2561 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 5,482,930,000 บาท
โดยมีรายละเอียดคือ 1. งบประมาณที่ใช้ในการซื้อแบบเรือและพัสดุสำหรับสร้างเรือ ซึ่งรวมถึงเครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ เครื่องมือ ส่วนสนับสนุน สายไฟและสายสัญญาณที่ใช้กับอุปกรณ์ที่กองทัพเรือเป็นผู้จัดหา รวมถึงการบริการทางเทคนิคในการออกแบบ ติดตั้ง เชื่อมต่อ การตรวจรับ การทดสอบทดลองอุปกรณ์ การฝึกอบรมการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง รวมเอกสารคู่มือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือในสาขาต่าง ๆ ตามแบบเรือ การประกันภัยและการขนส่ง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็น เงิน 2,832,930,000 บาท
2. งบประมาณที่ใช้ในการจัดหาระบบควบคุม ระบบอาวุธ และการบริหารโครงการ เป็นเงิน 2,650 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 – 2561แยกเป็นการจัดหาระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ วงเงิน 1,400 ล้านบาท
จัดหาระบบปืนหลัก (ปืน 76/62 มิลลิเมตร) 370 ล้านบาท จัดหาระบบปืนรอง (ปืนกล 30 มิลลิเมตร) วงเงิน 150 ล้านบาท จัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น วงเงิน 360 ล้านบาท และการบริหารโครงการและฝึกอบรม วงเงิน 370 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง โดยมี พลเรือเอก พลเดช เจริญพูล ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ เป็นประธานกรรมการฯ
โดยเหตุที่งบประมาณที่ใช้ในการจัดสร้างของเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ลำที่ 2 มีราคาสูงกว่าโครงการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 1 (เรือหลวงกระบี่) เนื่องมาจากระบบอาวุธที่ติดตั้งบนเรือหลวงกระบี่ เป็นระบบอาวุธปืนหลักและปืนรอง
ในขณะที่ระบบอาวุธที่จะติดตั้งในโครงการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ ลำที่ 2 นี้ นอกจากปืนหลักและปืนรองแล้ว ยังได้ติดตั้งระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้นสู่พื้นแบบ Harpoon ซึ่งเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีที่มีสมรรถนะและความแม่นยำสูง ซึ่งกองทัพเรือ
"ขอยืนยันว่า การดำเนินการทุกขั้นตอน ดำเนินการด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และเหมาะสมกับสภาพและสภาวะของประเทศ" พลเรือโท จุมพล กล่าว
ส่วนชื่อเรือ นั้น ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะใช้ชื่อใด แต่คงเป็นชื่อ ในประเภทเดียวกับ รล.กระบี่ <> Wassana Nanuam
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น