หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ชี้แจงประเด็น นสพ.เดลินิวส์นำเสนอบทความ “ทร.เดินสู่ฝันยิ่งใหญ่ ซื้อเรือดำน้ำ ระวังโผล่ไม่พ้นทะเล” ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2554


โดย Submarine Squadron (กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ) เมื่อ 8 ตุลาคม 2011

มันมาอีกแล้ว นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 ต.ค.54 สกู๊ปหน้า 1
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=23&contentID=167991
เนื้อหาใจความเป็นเรื่องของการดิสเครดิตโครงการจัดหาเรือดำน้ำ U 206A ด้วยการโจมตีประเด็นเก่าๆ เกี่ยวกับการซ่อมบำรุง ค่าซ่อมเรือก่อนส่งมอบ ความคุ้มค่า พ่วงด้วยประเด็นใหม่อยู่ 2-3 ประเด็น เกี่ยวกับประเด็นการซ่อมบำรุง Non magnetic Steel การซ่อมบำรุงตอร์ปิโด และการเตรียมทีมแพทย์เฉพาะทางสำหรับเรือดำน้ำ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากเนื้อหาที่นำเสนอแล้วข้อมูลที่ป้อนให้กับหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเป็นส่วนใหญ่ เรื่องแนวเหตุผลความจำเป็น แนวความคิดในการใช้ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยุทธการและยุทธวิธีเรือดำน้ำเริ่มหมดไป เนื่องจากหน้าแตกหมอไม่รับเย็บมาหลายครั้งแล้ว จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่าได้ว่าผู้ให้ข้อมูลไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นทหารเรือด้วยกันเองทั้งที่ยังคงอยู่ในราชการ รวมถึงผู้อยู่เบื่องหลังที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว สำคัญตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการซ่อมบำรุง ตั้งแต่สากะเบือยันเรือรบ ผิดหวังจากการย้ายบรรจุเมื่อตุลา’54 ที่ผ่าน เห็นได้จากมีการแหนบแนมอดีตผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชาปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เป็นธรรมดาของกลุ่มบุคคลที่ผิดหวังและเสียผลประโยชน์ ก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และเคารพในการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา ไม่มีจิตสำนึกในความเป็นทหาร สมควรที่จะถูกประณามและจำกัดบทบาทให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อคนรุ่นใหม่ต่อไป

          ประเด็นเก่าไม่ขอเสียเวลาอธิบายชี้แจง ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรือต้องการทบทวน สามารถย้อนหลังกลับไปอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่าง ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 3 ลิงค์ เรียงลำดับจากเก่าสุดถึงใหม่สุด (อ่านได้ในเฟสบุ๊ค “กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ”)
          ครั้งที่ 1 ชี้แจงประเด็นต่าง ๆ สืบเนื่องจาก นสพ.มติชน รายงานข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา
          ครั้งที่ 2 ชี้แจงกรณี นสพ.แนวหน้า ลงบทความเรื่อง ทหารเรือมาแล้ว จำนวน 2 ตอน ในฉบับวันที่ 13 และ 16 กันยายน 2554
           ครั้งที่ 3 ชี้แจงกรณีประเด็น นสพ.เดลินิวส์ฉบับวันอังคารที่ 27 กันยายน 2554 หน้า 8 คอลัมน์ ตรงไปตรงมา กองทัพ+อาวุธ+สำนึก โดย คมธนู

การชี้แจงครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งมีประเด็นที่ต้องอธิบายให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบข้อมูลเชิงวิชาการ จำนวน 2 ประเด็น และการชี้แจงให้ทราบ 1 ประเด็น และตอบคำถามที่ นสพ. ได้ถามไว้ 1 คำถาม แยกตามประเด็น ดังนี้

ประเด็นการซ่อมบำรุง Non magnetic steel
          ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรือดำน้ำ U 206 โครงสร้างตัวเรือมี 2 ชั้น คือ ตัวเรือชั้นนอก (Outer Hull) เป็นเปลือกนอกหุ้มตัวเรือชั้นใน โดยประกอบกันเป็นรูปทรงเรือดำน้ำตามหลัก Hydrodynamic เพื่อให้เรือดำน้ำสามารถเคลื่อนที่ใต้น้ำได้อย่างคล่องตัว ไม่ได้รับแรงกดดันของน้ำเนื่องจากจะมีน้ำอยู่ทั้งสองด้าน (ด้านในและด้านนอก) ทำให้ไม่มีความแตกต่างของแรงกดดันของน้ำ การประกอบตัวเรือชั้นนอกเป็นรูปทรางเรือดำน้ำใช้วิธีการหยึดด้วยหมุด  ตัวเรือชั้นใน (Inner Hull or Pressure Hull) มีลักษณะเป็นทรงกระบอกหรือท่อน้ำ เป็นส่วนที่รับแรงกดดันของน้ำและต้องรักษาความดันบรรยากาศภายในให้เป็นปกติ การสร้างตัวเรือภายในเป็นสิ่งที่ยากและละเอียดอ่อน ซึ่งจะต้องได้รับการควบคุมเป็นพิเศษ เพราะการบิดเบี้ยวแม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้สูญเสียความต้านทานแรงกดดันของน้ำไปมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ การประกอบ non magnetic steel เป็นตัวเรือภายในต้องใช้การเชื่อม ซึ่งแน่นอนต้องใช้เทคนิคพิเศษ ไม่เหมือนการเชื่อมโลหะธรรมดาทั่วไป และได้รับการตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถรับแรงกดดันของน้ำได้ตามคุณลักษณะ (specification) ของเรือดำน้ำแต่ละรุ่นแต่ละแบบ
          การซ่อมบำรุงตัวเรือภายนอกไม่มีปัญหาอะไร เพียงถอดชิ้นส่วนที่ชำรุดออกและนำชิ้นส่วนใหม่ประกอบเข้าที่เดิมเป็นอันเรียบร้อย การซ่อมตัวเรือภายในเป็นสิ่งที่ผู้คัดค้านโครงการเป็นกังวลซึ่งต้องขอบคุณในความหวังดี แต่การซ่อมทำตัวเรือภายในไม่ว่าจะเป็น Steel or Non magnetic Steel จะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ตรวจสอบโดยเฉพาะ รวมถึงใช้ช่างผู้ชำนาญการเป็นผู้กำกับดูแล โดยปกติการซ่อมทำตัวเรือภายในจะไม่กระทำทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน หรือทุกปี แต่จะได้รับการตรวจสอบการต้านทานแรงดัน (Pressure test) ทุกครั้งการเข้ารับการซ่อมใหญ่ตามวงรอบ (Full Dock Cycle) ซึ่งจะมีการซ่อมทำเมื่อมีชำรุดหรือมีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น ตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำ U 206A ครั้งนี้ เรือจำนวน 4 ลำ จะได้รับการซ่อมทำใหญ่ตามวงรอบก่อนส่งมอบ ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบแรงดัน การผนึกน้ำ และระบบความปลอดภัยอื่นๆ และออกใบรับรองอนุญาตการใช้งาน ( Construction and Safety Equipment Certificate) ไปจนถึงการซ่อมทำใหญ่ตามวงรอบในครั้งต่อไป ข้อดีของ Non magnetic steel คือไม่เป็นสนิมและไม่มีอำนาจแม่เหล็ก ดังนั้นตัวเรือภายในของ U 206A จึงมีโอกาสน้อยที่จะได้รับความเสียหาย ถึงขั้นจะต้องได้รับการซ่อมทำ แต่ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ วิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ การนำเรือไปซ่อมยังอู่เรือที่ได้รับรองมาตรฐานการซ่อมทำในภูมิภาค ซึ่งมีความคุ้มค่ามากกว่าการลงทุนทั้งองค์วัตถุและองค์บุคคล เพื่อรองรับการซ่อมทำตัวเรือภายในด้วยตัวเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การซ่อมคืนสภาพครั้งใหญ่ของเรือดำน้ำ U 209 ของอินโดนีเซีย ซึ่งต้องเดินทางไปรับการซ่อมทำที่อู่ของบริษัท DSME ประเทศเกาหลีใต้ เพราะฉะนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำแบบใด เรือเก่าหรือเรือใหม่ก็ตาม ถ้ามีความจำเป็นต้องได้การซ่อมทำตัวเรือภายใน หนทางที่เหมาะสม เป็นไปได้ และยอมรับปฏิบัติได้ คือการนำเรือไปซ่อมยังอู่ต่อเรือที่ได้รับรองมาตรฐานการซ่อมทำในภูมิภาค   
         
ประเด็นการซ่อมบำรุงตอร์ปิโด
          โดยปกติตอร์ปิโดประกอบด้วย 5 ส่วน หลักได้แก่ ส่วนนำวิถี (Nose) ส่วนหัวรบ (Warhead) ส่วนควบคุม (Electronic Control) ส่วนเชื้อเพลิง (Fuel/Battery) และ ส่วนขับเคลื่อน (Propulsion) ตอร์ปิโดที่มากับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ U 206A เป็นตอร์ปิโดแบบ DM2A3 บริเวณส่วนหัว (nose) มีตัวรับสัญญาณเสียง (Conformal array) ระบบนำวิถีแบบ Passive homing ใช้สำหรับต่อต้านเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ หัวรบหนัก 230 กิโลกรัม ส่วนเชื้อเพลิงเป็นแบตเตอรี่ชนิด Silver-Zinc จำนวน 3 ส่วนเรียงต่อกัน สามารถเลือกจำนวนแบตเตอรี่ได้ตามระยะยิงที่ต้องการ การขับเคลื่อนใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไปใบจักรหมุนกลับทาง 2 ใบ ต้องยอมรับว่าข้อมูลด้านการบำรุงรักษายังรวบรวมได้ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ตามคุณลักษณะของตอร์ปิโดสามารถวิเคราะห์ความต้องการซ่อมทำในระดับผู้ปฏิบัติ และในระดับคลัง (Inventory) ได้ โดยปกติจะเก็บตอร์ปิโดไว้ที่คลัง เมื่อต้องการใช้จะประกอบตอร์ปิโดตามที่ต้องการเพื่อขนส่งไปบรรจุลงเรือก่อนออกปฏิบัติการ การซ่อมบำรุงส่วนใหญ่จึงเป็นการซ่อมทำระดับคลัง ส่วนที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษคือแบตเตอรี่ ซึ่งจะต้องมีเครื่องบรรจุกระแสไฟฟ้า (Charging) และเครื่องคายปะจุไฟฟ้า (Discharging) สำหรับบำรุงรักษาแบตเตอรี่ให้สามารถเก็บกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนประกอบอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาและมีเครื่องมือตรวจสอบการทำงานตามระยะเวลาเช่นกัน ก่อนประกอบเพื่อส่งให้เรือใช้งาน ส่วนต่าง ๆ จะได้รับการตรวจสอบก่อนเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าตอร์ปิโดพร้อมใช้งาน ซึ่งระบบการทำงานของส่วนนำวิถี ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนขับเคลื่อนไม่มีความแตกต่างไปจากตอร์ปิโดเรือผิวน้ำที่กองทัพเรือมีใช้ในปัจจุบัน จึงไม่เกินขีดความสามารถที่กองทัพเรือจะจัดหาเพิ่มเติมได้ในกรณีที่ไม่รวมเครื่องมือเหล่านี้ในโครงการจัดหาเรือดำน้ำ มิเช่นนั้นกองทัพเรือคงจะไม่จัดหาเรือฟริเกต เรือคอร์เวต และเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำที่มีอาวุธหลักในการปราบเรือดำน้ำคือตอร์ปิโดขึ้นระวางประจำการ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อรวบรวมรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว จะรีบนำมานำเสนอให้ทุกท่านได้รับทราบในโอกาสแรกต่อไป
       
ประเด็นเรื่องการเตรียมทีมแพทย์เฉพาะทางสำหรับกำลังพลเรือดำน้ำ
          กองทัพเรือโดยกองเรือดำน้ำมีได้นิ่งนอนใจในประเด็นนี้แต่อย่างใด ขอเรียนว่าปัจจุบันกองทัพเรือมีนายแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำและการบินสำหรับดูแลผู้ที่ปฏิบัติงานใต้น้ำ ได้แก่ นักทำลายใต้น้ำจู่โจม นักประดาน้ำ และผู้ที่ปฏิบัติงานบนอากาศยาน ได้แก่ นักบิน ช่างเครื่อง รวมถึงผู้ปฏิบัติงานบนอากาศยานทุกนาย การเตรียมทีมแพทย์สำหรับเรือดำน้ำนั้น กองทัพเรือได้เคยส่งนายแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำไปอบรมหลักสูตรที่ฐานทัพเรือดำน้ำ เมือง Groton, Connecticut USA และส่งไปร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการปฏิบัติการเรือดำน้ำอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันกองเรือดำน้ำร่วมกับกรมแพทย์ทหารเรือกำลังดำเนินการจัดทำมาตรฐานสุขภาพนักดำเรือดำน้ำ เพื่อใช้ในการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจผู้ที่สมัครคัดเลือกเป็นกำลังพลเรือดำน้ำ มั่นใจได้ว่ากำลังพลเรือดำน้ำจะได้รับการดูแลด้านการแพทย์อย่างถูกต้องและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
       
ประเด็นคำถามอันแสดงถึงความเขลาทางปัญญาของผู้ให้ข้อมูลและผู้นำข้อมูลมาเผยแพร่ กับคำถามที่ว่า “ทำไมค่าซ่อมเรือถึงมากมายมโหฬารขนาดนี้ ไม่ต้องมี 6 ลำ เอาแค่ลำเดียว แต่เป็นของใหม่ดี ๆ ไปเลย ไม่ดีกว่าหรือ???”
          จากคำถามที่ทิ้งไว้ให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ เป็นการเชียร์ออกนอกหน้าให้ซื้อเรือใหม่อย่างแน่นอน ตามที่ทุกท่านทราบดี ราคาเรือดำน้ำใหม่ ตัวเรือเปล่าข้างในไม่มีอะไรเลย ราคาหมื่นสามพันล้านบาท ถ้ารวมอุปกรณ์ระบบอำนวยการรบด้วยราคาเพิ่มขึ้นถึงลำละ 20,000 กว่าพันล้านบาท ซึ่งในสถานการณ์อุทกภัยของประเทศในขณะนี้คงไม่เหมาะเป็นแน่แท้ เสนอไปก็มีแต่คนด่ากันตลอดลำน้ำเจ้าพระยาถึงลำน้ำปิง วัง ยม และน่าน แต่นั้นไม่ใช้ประเด็นสำคัญ แต่ที่สำคัญ คือ ธรรมชาติของกำลังรบทางเรือจำเป้นต้องกลับเข้าฐานทัพรับการส่งกำลังบำรุง พักผ่อนกำลังพล ซ่อมบำรุงตามระยะเวลา ไม่สามารถลอยคออยู่ในทะเลได้ตลอด 365 วันในหนึ่งปี จากการศึกษาวงรอบการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำพบว่าถ้าต้องการเรือดำน้ำปฏิบัติการในทะเลตลอดระยะเวลา 365 วันในหนึ่งปีอย่างต่อเนื่องจะต้องมีเรือดำน้ำอย่างน้อย 4 ลำ ถ้าให้แน่ใจจริง ๆ ต้องมีจำนวน 6 ลำ จึงจะมีความแน่นอนที่สุด  ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดได้แก่ จำนวนเรือดำน้ำของกองทัพเรือเยอรมัน และกองทัพเรือออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของความต้องการเรือดำน้ำ จำนวน 4 ลำ การมีเรือดำน้ำลำเดียวจะทำให้ขีดความสามารถในการป้องปรามหมดไป เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามจะทราบเสมอเมื่อเรือดำน้ำออกจากท่า จากภาพถ่ายดาวเทียม หรือสายข่าวที่มีอยู่เต็มไปหมดทุกพื้นที่สำคัญทางทหาร จึงสามารถส่งข่าวเตือนภัยให้กำลังทางเรือของตนทราบ เมื่อเรือดำน้ำกลับเข้าฐานทัพก็จะแจ้งให้กำลังของตนทราบเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจต่อไปเมื่อปราศจากภัยคุกคามใต้น้ำ เหมือนกับ ”แมววิ่งไล่จับหนู” แต่ถ้ามีเรือดำน้ำอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการตลอดเวลา ใครจะทำอะไรก็ต้องใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน เพราะคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่ว่า Unseen But On Scene
          การอธิบายชี้แจงในครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรือดำน้ำมากขึ้น และใช้ในการพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจสนับสนุนหรือคัดค้าน กองทัพเรือ กองเรือดำน้ำ ยอมรับฟังเหตุผลเสมอ แต่ขอให้มีความชัดเจนตรงไปตรงมา แต่ถ้าใช้วิชามารก็รับไม่ได้เช่นกัน

คำอธิบายนี้เป็นการนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน ถ้ามีข้อความทำให้เสื่อมเสียต่อผู้ถูกพาดพิง ผู้เขียนขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
นาวาโท วีระชัย จุฬารมย์


Who? คืออุปสรรคและปัญหา สำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้...

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1 พฤษภาคม 2555 เวลา 20:12

    เป็นการใช้หลักการท้ังด้านเทคนิคและการบริหารในการชี้แจงได้อย่างมีเป็นเหตุเป็นผลดี

    ตอบลบ