หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2560

  
พลังอำนาจของ Network Centrix Warfare (NCW)
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจเยี่ยมการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2560
วันนี้ (2 พฤษภาคม 2560) เวลา 12.10 น. พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาตรวจเยี่ยมการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 บน เรือหลวงจักรีนฤเบศร บริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยมี พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พลเรือเอก พลเดช เจริญพูล รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 ให้การต้อนรับ โดยการฝึกกองทัพเรือประจำปีเป็นการฝึกที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของ กองทัพเรือ ซึ่งเป็นการบูรณาการการฝึกภายในกองทัพเรือ ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือตามสาขาต่างๆ การปฏิบัติและการสนับสนุนของกรมในส่วนบัญชาการส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์เดียวกัน และใช้ทรัพยากรร่วมกัน
การฝึกกองทัพเรือประจำปี 60 เป็นการฝึกปีที่ 2 ตามวงรอบการจัดการฝึก 2 ปี ซึ่งเป็นการปรับแนวทางการจัดการฝึกใหม่และเริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรก โดยใช้สถานการณ์ฝึกต่อเนื่องจากการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2559 ที่ทำการฝึกในขั้นสถานการณ์ปกติ - ความขัดแย้งระดับต่ำ เน้นการฝึกเกี่ยวกับการวางแผนประณีตการรักษากฎหมายในทะเล และการช่วยเหลือประชาชน สำหรับการฝึกในปีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร ทดสอบการอำนวยการยุทธ์และทดสอบขีดความสามารถตามสาขาปฏิบัติการของหน่วย ทำการฝึกในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับกลางจนถึงระดับสูง โดยมีขั้นตอนการฝึก ประกอบด้วย ขั้นการอบรมก่อนการฝึก ในห้วง ธันวาคม 2559 - มกราคม 2560 เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจให้กับกำลังพลและเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มการฝึก ขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการ ในห้วง กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2560 ทำการฝึกวางแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติ การอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการ แนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ การฝึกด้านการส่งกำลังบำรุง การปฏิบัติการข่าวสาร สงครามสารสนเทศ/สงครามไซเบอร์ และสงครามที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง สำหรับขั้นการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเลในห้วง เมษายน – พฤษภาคม 2560 เป็นการฝึกสนธิกำลังระหว่างหน่วย ทำการฝึกตามขีดความสามารถการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่างๆ ทั้งในระดับยุทธการและยุทธวิธี การฝึกควบคุมบังคับบัญชาและการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการ โดยมีรายการฝึกสำคัญ ประกอบด้วย การฝึกยุทธวิธีร่วมกองเรือ การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างกำลังทางเรือและอากาศยาน การฝึกป้องกันพื้นที่ของทัพเรือภาค การฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีของหน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่ การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกและส่งผ่านกำลังทางบก รวมทั้ง การฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง

ส่วนสำคัญของการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 การฝึกปัญหาที่บังคับการได้ใช้โครงสร้างจริงทำการฝึก โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ร่วมการฝึกด้วย ทำให้ทุกหน่วยมีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความกระตือรือร้น และแสดงให้เห็นถึงกำลังพลทุกระดับของกองทัพเรือ ได้เข้าร่วมการฝึกอย่างแท้จริงและได้ทำการฝึกปัญหาที่บังคับการควบคู่กับใช้ระบบจำลองยุทธ์ทางเรือ โดยฝึกสถานการณ์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงถึง 12 วัน ซึ่งเป็นการฝึกที่ยาวนานที่สุดในรอบทศวรรษ ทำให้ได้ทดสอบระบบงานของศูนย์ปฏิบัติการและการอำนวยการยุทธ์ของหน่วยกำลังต่างๆ อย่างสมบูรณ์ ได้เน้นการทดสอบเกี่ยวกับแนวความคิดการใช้กำลังของกองทัพเรือ การควบคุมทะเล และการรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ซึ่งจากผลการฝึกแสดงให้เห็นว่าเรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ยากต่อการค้นหา ข้าศึกไม่ได้ใช้เรือดำน้ำในพื้นที่ของตน แต่ใช้แทรกซึมเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ฝ่ายเรา ทำให้สามารถหาข่าว วางทุ่นระเบิดบริเวณหน้าฐานทัพท่าเรือ ลิดรอนทำลายเรือรบโจมตีเรือสินค้าที่จะผ่านเข้า - ออก ทำให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถปิดอ่าว และส่งผลกระทบต่อการรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ซึ่งฝ่ายเราต้องทุ่มกำลังและสิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งเรือผิวน้ำและอากาศยานจำนวนมากในการป้องกันค้นหาและต่อต้านเรือดำน้ำ โดยยุทโธปกรณ์ที่สามารถต่อต้านเรือดำน้ำที่ดีที่สุดก็คือเรือดำน้ำนั่นเอง

การฝึกภาคสนามภาคทะเลถือได้ว่าเป็นการฝึกที่มีการจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การฝึกของ กองทัพเรือ โดยมีเรือรบกว่า 38 ลำ อากาศยาน 16 เครื่อง รถรบ/รถเรดาห์ 50 คัน ปืนใหญ่/ปตอ. 40 แท่นยิง กำลังพลกว่า 5,000 นาย และหน่วยสนับสนุนการฝึกอีกจำนวนมาก รวมทั้งยังได้จัดการฝึกในห้วงใกล้เคียงกับการจัดกำลังไปปฏิบัติราชการอื่น ประกอบด้วย การเข้าร่วมงานสวนสนามทางเรือนานาชาติและนิทรรศการทางเรือ IMDEX ASIA 2017 ที่สิงคโปร์ การร่วมการฝึกผสม CARAT 2017 แบบพหุภาคีครั้งแรกระหว่าง กองทัพเรือ - กองทัพเรือสหรัฐฯ – กองทัพเรือสิงคโปร์ ระหว่างเดินทางไปสิงคโปร์ การฝึกผสม GUARDIAN SEA 2017 กับเรือดำน้ำสหรัฐอเมริกา ในฝั่งทะเลอันดามัน และการฝึกผสม PASSEX ระหว่าง กองทัพเรือไทย - กองทัพเรือออสเตรเลีย ในห้วงเรือเดินทางกลับมายังไทย ซึ่งเป็นการบูรณาการการจัดกำลังและใช้งบประมาณที่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากเป็นการฝึกของหน่วยต่างๆ ในกองทัพเรือ แล้วในปีนี้ กองทัพเรือ ยังมีนโยบายเพิ่มการฝึกในลักษณะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบูรณาการการฝึกในระดับยุทธการและยุทธวิธีกับกำลังของ กองทัพบก และ กองทัพอากาศ ซึ่งได้มีการเชิญผู้แทนเหล่าทัพมาร่วมประชุมวางแผนและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการใช้กำลังในขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการรวมทั้งได้เชิญ กองทัพบก และ กองทัพอากาศ บูรณาการจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในขั้นการฝึกภาคสนามภาคทะเล ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดี โดย กองทัพบก ได้ปรับแผนการฝึกของ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ โดยจัดกำลัง 2 กองร้อยทหารราบ รถเกราะล้อยาง 17 คัน และรถถัง 4 คัน มาร่วมการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 และกองทัพอากาศ ได้ปรับแผนการทดสอบการใช้กำลังกองทัพอากาศ ประจำปี 2560 ตามแผนเฉลิมอากาศ โดยจัด เครื่องบิน JAS-39 (GRIPPEN) 4 เครื่อง เครื่องบิน SAAB 340 (AEW) 1 เครื่อง เครื่องบิน F-16  8 เครื่อง มาร่วมการฝึก รวมทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สนับสนุนเรือตรวจการณ์ 1 ลำ ของ กองบังคับการตำรวจน้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) มาร่วมสาธิตการตรวจค้นเรือต้องสงสัยกระทำผิดกฎหมายในทะเลด้วย

การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2560 เป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ ที่กองทัพเรือได้รับ และจะทำให้สามารถพัฒนาหน่วยที่มีขีดความสามารถอยู่ในระดับมาตรฐาน (Standard Navy) ไปสู่ระดับมืออาชีพ (Professional Navy) ตามนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ โดย กองทัพเรือ จะมีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ตั้งแต่การรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมาย จนถึงการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ อันจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่ากองทัพเรือสามารถสร้างความมั่นคงปลอดภัยและอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอ รวมทั้งจะทำให้กำลังของเหล่าทัพต่างๆ ที่เข้าร่วมการฝึก มีความรู้ความเข้าใจในการประสานสอดคล้อง และสร้างความคุ้นเคยในการปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักนิยมและแนวทางการปฏิบัติการร่วม กับเป็นพื้นฐานสำหรับการฝึกร่วมกองทัพไทยที่จะเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการยุทธ์ที่เป็นเอกภาพของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยจะส่งผลให้ในภาพรวมของกองทัพไทยมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตลอดไป
/ ที่มา: 
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ภาพถ่ายจาก:>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น