หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กองทัพเรือ วางแผนต่อสร้างเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ลำที่สอง เอง


ข่าวจากการสัมภาษณ์นายทหารระดับสูงของกองทัพเรือท่านหนึ่ง โดยผู้สื่อข่าวของทีวีช่อง 9 ได้มีการเปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการว่า ทางกองทัพเรือ วางแผนที่จะทำการต่อสร้างเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ลำที่สอง ขึ้นเองภายในปรระเทศ โดยในขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่ทางด้านทิศเหนือ ของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช สำหรับเตรียมการสร้างเรือลำที่สอง ซึ่งในโครงการมี 2 ลำ โดยลำแรก ที่ได้มีการลงนามในสัญญาไปแล้ว ทำการต่อสร้างที่อู่เรือของบริษัท DSME ประเทศเกาหลีใต้

และนี่จะเป็นครั้งแรก ที่จะมีการต่อสร้างเรือรบประเภทเรือฟริเกต ขนาดระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน เทคโนโลยี Stealth เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งครับ..



พิธีลงนามในสัญญาจ้างสร้างเรือฟริเกต

       คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ ทร. ดำเนินการด้านงบประมาณสำหรับโครงการจัดหาเรือฟริเกต เมื่อ ๓๐ ก.ค.๕๖ และหลังจากนั้น เมื่อ ๗ ส.ค.๕๖ พล.ร.อ.สุรศักดิ์  หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ได้ลงนามในสัญญาจ้างสร้างเรือฟริเกต จากบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering Co., Ltd. (DSME) สาธารณรัฐเกาหลี โดย MR. Ko Jaeho ประธานบริษัท DSME ในวงเงินประมาณ ๑๔,๖๐๐ ล้านบาท ระยะเวลาส่งมอบเรือ ๑,๘๐๐ วัน โดยมี พณฯ  Mr.Jeon Jae Man เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย  และ Maj.Sung Woo Young ผชท.ทหาร สาธารณรัฐเกาหลี/กรุงเทพ ร่วมเป็นสักขีพยาน 

        ประมาณต้นปี ๒๕๖๑ ทร. จะได้รับมอบเรือฟริเกตสมรรถนะสูงไว้ประจำการ เพื่อนำไปใช้ในการป้องกัน รักษาอธิปไตยของชาติ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล  โดยสามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ร่วมกับเรือรบหลักของ ทร. ชุดอื่นที่ได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จ ได้แก่เรือฟริเกต ชุด ร.ล. นเรศวร และ ร.ล.จักรีนฤเบศร ได้ รวมทั้งสามารถปฏิบัติการรบร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศได้อย่างสมบูรณ์ จึงเป็นการพัฒนากำลังรบทางเรือก้าวสำคัญของ ทร. ซึ่งทำให้มีสมรรถนะที่ได้เปรียบในกรณีที่เกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นการใช้กำลังทางเรือ และได้เปรียบในการป้องปรามเพื่อระงับความขัดแย้ง ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งได้เปรียบในการเจรจาตกลง เพื่อแบ่งสรรหรือครอบครองผลประโยชน์ในคราวจำเป็น ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจทางทะเลได้

        การสร้างเรือฟริเกต มีรายละเอียดทางเทคนิคมากและมีความยุ่งยากซับซ้อน ตั้งแต่การออกแบบ การสร้าง การติดตั้งและเชื่อมต่อ ตลอดจนการทดสอบทดลอง ใช้ระยะเวลานานในการสร้างเรือ ดังนั้น เพื่อให้ ทร. ได้รับมอบเรือที่มีคุณลักษณะและขีดความสามารถตามที่ระบุไว้ในสัญญา และทันตามกำหนดเวลาส่งมอบ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการดำเนินโครงการฯ ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น  จึงได้เตรียมจัดส่งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน รวมทั้งสิ้น ๑๘ นาย ไปปฏิบัติราชการ ตลอดระยะเวลาการสร้างเรือ ณ อู่เรือบริษัท DSME สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแล และติดตามงานสร้างเรือฯ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งตรวจรับงานงวดต่างๆ ก่อนการชำระเงินงวดนั้นๆ เมื่อดำเนินงานเสร็จสิ้น เรียบร้อย สมบูรณ์แล้ว

        ตามสัญญาจ้างสร้างเรือฟริเกต กำหนดให้บริษัท DSME ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านการออกแบบ การวิศวกรรมและการต่อเรือ (Engineering and Construction) รวมทั้งการวางแผนและบริหารโครงการให้แก่กำลังพลของ ทร. และอู่เรือเอกชนของไทย จำนวนรวมถึง ๑๔๗ นาย โดยเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระยะที่ ๑ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้และการปฏิบัติพร้อมกับการสร้างเรือ โดยบริษัท DSME ได้แบ่งการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่ ระยะที่ ๑ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ส่วนระยะที่ ๒ เป็นการต่อเรือร่วมกับอู่ต่อเรือภายในประเทศ โดยสร้างเรือส่วนหนึ่งในเกาหลีและมาประกอบขั้นสุดท้ายที่อู่เรือในประเทศไทย และระยะที่ ๓ อู่เรือในประเทศ ต่อเรือฟริเกตได้เอง โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากบริษัท ในการเตรียมการดังกล่าว ทร. จะได้จัดเตรียมกำลังพลของ ทร. และเชิญชวนอู่เรือไทยที่มีความสนใจจัดส่งบุคลากรเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมกับกำลังพลของ ทร. โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของหลักสูตรการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งผลที่ได้รับจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถให้อู่เรือไทยและบุคคลากรทั้ง ทร. และภาคเอกชนให้มีความรู้ความชำนาญ รองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการบำรุงรักษาได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือรบในประเทศได้

        นอกเหนือจากการเตรียมกำลังพลดังกล่าวข้างต้น ทร. จะจัดเตรียมกำลังพลประจำเรือ และกำลังพลจากหน่วยซ่อมบำรุงเข้ารับการฝึกอบรมในแต่ละห้วงเวลา ให้มีความพร้อมที่จะนำเรือกลับภายหลังการส่งมอบ และซ่อมบำรุงรักษาให้เรือสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดอายุการใช้งานของเรือ

--------------------------------------

โครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงของกองทัพเรือ 

      กองทัพเรือจัดหาเรือฟริเกต เพื่อนำไปใช้ในการป้องกัน รักษาอธิปไตยของชาติ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจทางทะเล และจัดหาเพื่อทดแทน เรือฟริเกต ชุด ร.ล. พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ ร.ล.พุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ครบกำหนดปลดประจำการในปี 2558 และ 2561 ตามลำดับ จึงมีความจำเป็นจัดหาเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำ โดยลำที่ 1 กำลังจัดหาในครั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556 – 2561 ส่วนลำที่ 2 จะพิจารณาดำเนินการจัดหาต่อไป 

          เรือฟริเกตที่จัดหาจะมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ  คือ การปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ  การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ และการปฏิบัติสงครามผิวน้ำ  โดยสามารถปฏิบัติงานร่วมกับ ฮ.ทร. ในการรับ-ส่ง ฮ. และนำ ฮ.เข้าเก็บในโรงเก็บ ฮ.ได้  นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มขีดความสามารถของระบบตรวจการณ์ และระบบอาวุธในการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ  และการป้องกันภัยทางอากาศให้มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งระบบอาวุธและระบบอำนวยการรบ ได้รับการออกแบบให้มีขีดความสามารถในการเชื่อมต่อข้อมูลทางยุทธวิธี ที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบการรบของเรือฟริเกต ชุด ร.ล. นเรศวร และ ร.ล.จักรีนฤเบศร ได้ เป็นผลทำให้การปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประกอบกับข้อเสนอการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่บริษัทฯ เสนอ จะทำให้เพิ่มขีดความสามารถให้อู่เรือไทยและบุคคลากรทั้ง ทร. และภาคเอกชนให้มีความรู้ความชำนาญ รองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการบำรุงรักษา ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือรบในประเทศได้ 

       กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาดำเนินการ โดยได้เชิญชวนอู่เรือของประเทศต่าง ๆ  ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา จำนวน 13 ราย ซึ่งรวมถึงอู่เรือจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ด้วย เพื่อเปิดกว้างให้มีการแข่งขันให้ ทร. ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมีผู้เสนอแบบเรือ 5 ราย ได้แก่ อู่เรือจากสาธารณรัฐอิตาลี ราชอาณาจักรสเปน สาธารณรัฐเกาหลี  (2 ราย) และสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้นได้ดำเนินการคัดเลือกแบบตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกองทัพเรือ  โดยผลการพิจารณาปรากฏว่า แบบเรือของบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering Co., Ltd. (DSME) สาธารณรัฐเกาหลี สามารถตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือได้ดีที่สุด และเป็นแบบเรือที่ตรงตามความต้องการของกองทัพเรือมากที่สุด จึงได้รับการคัดเลือก 

        แบบเรือฟริเกตที่ได้รับการคัดเลือก เป็นแบบที่พัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I)  ซึ่งเรือฟริเกตที่กองทัพเรือจัดหา มีการออกแบบและสร้างเรือ โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลี อีกทั้งได้รับการรับรองเป็นแบบที่ได้รับรองจากสถาบันจัดชั้นเรือซึ่งเป็นสมาชิกของ IACS (International Association of Classifications Society)  โดยแบบเรือดังกล่าว มีระวางขับน้ำสูงสุด  3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต  ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล กำลังพล 136 นาย ลักษณะของเรือออกแบบโดยใช้ Stealth Technology และลดการแพร่คลื่นแม่เหล็กตัวเรือ รวมทั้งลดการแพร่เสียงใต้น้ำ ติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบอาวุธจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ รวมทั้งป้องกันตัวเองในระยะประชิด ตามมาตรฐานยุโรป สหรัฐฯ และกองทัพเรือที่มีใช้งานและกำลังจัดหา 

        การสร้างเรือ จะดำเนินการ ณ อู่ต่อเรือของบริษัท DSME สาธารณรัฐเกาหลี ในระหว่างปี 2556 – 2561 โดยมีค่าจ้างสร้างเรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 14,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม อะไหล่เครื่องมือ เอกสาร  ส่วนสนับสนุน การทดสอบทดลอง การฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

-------------------------------------- 

คุณลักษณะและขีดความสามารถโดยสังเขป ของเรือฟริเกตสมรรถนะสูง

ภารกิจ 

    ภารกิจในยามสงคราม กิจหลัก ป้องกันอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย กิจรอง คุ้มกันกระบวนเรือลำเลียง 

    ภารกิจในยามสงบ        รักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ และรักษากฎหมายตามกฎหมายให้อำนาจทหารเรือ

ขีดความสามารถ 

     ขีดความสามารถทั่วไป  โดยสามารถนำเรือ/เดินเรือแบบรวมการที่ทันสมัย ระบบขับเคลื่อนที่ควบคุมง่าย รวดเร็ว ทนทาน ง่าย และประหยัด ความทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ ๖ ขึ้นไป โครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์/เคมี/ชีวะ 

     ขีดความสามารถด้านการควบคุมบังคับบัญชาและการตรวจการณ์ ด้วยระบบอำนวยการรบและระบบตรวจการณ์ที่ทันสมัยและขีดความสามารถสูง รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง ตลอดจนสามารถตรวจการณ์ครอบคลุมทุกมิติทั้งกลางวันและกลางคืน 

     ขีดความสามารถการรบ โดยสามารถปฏิบัติการรบได้ ๓ มิติ โดยให้ความสำคัญในการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำเป็นลำดับแรก โดยสามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้ายและโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำได้ที่ระยะไกลด้วย Vertical Launch Anti-Submarine Rocket หรือตอร์ปิโด และลำดับที่สอง การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ โดยใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฏิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ  ส่วนการป้องกันทางอากาศระยะไกล หรือพื้นที่ชั้นนอกของกองเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับและโจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ โดยสามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าและให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ 

      ขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ  ปืนใหญ่เรือและปืนรองต่อสู้อากาศยาน  ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS)  ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์  ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ 

     ขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้      

      ขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ได้แก่ ร.ล.จักรีนฤเบศร  เรือฟริเกต ชุด ร.ล.นเรศวร  เรือคอร์เวต ชุด ร.ล.รัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับ บ.กองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก

คุณลักษณะและขีดความสามารถทั่วไป

ระวางขับน้ำสูงสุด

 3,700 ton  

มิติ

 123 x 14.4 x 8 (m)   

ความคงทนทะเล

 Sea State 8 (Survivability)

ความเร็วสูงสุด

  30 Knots 

ระยะปฏิบัติการ

 4,000 NM @ 18 Knots

ระบบขับเคลื่อน

 2 x Diesels + 1 x GE, Controllable Pitch Propeller 

ระบบไฟฟ้า

 4 x Ship Service Power Generation (Each of 830 kW Rated output)

เรือเล็ก

 1 x RHIB 

ระบบเรือ

 Stealth Technology   

- RCS (Radar Cross Section) Reduction

- IR (Infra Red Reduction)                                                  

- URN (Underwater Radiated Noise) Reduction 

- Degaussing 

- NBC Protection System 

เฮลิคอปเตอร์  

 1 x 10 Ton Helo (S-70B Sea hawk or MH-60S Knight hawk)   with Hangar     

กำลังพล

 136 

ระบบอำนวยการรบ  

 15 x MFC (Multi Function Consoles) 

ระบบอาวุธ

 8 x SSM 

VLS with capabilities of 

     + 8 x Canisters (max 32 ESSM) 

     + Vertical Launch Anti-submarine Rocket (VLA) 

     + Nulka Active-off board ECM 

     + SM2** 

1 x 76/62 Stealth Shield, Multi feeding system 

    (max range 40- 45 km with smart ammunition) 

2 x 30 mm Guns (200 RPM) x CIWS (4,500 RPM) 

2 x .50 inch (Range; 2 km) 

2 x Trainable Triple tube torpedo launchers  

ระบบควบคุมการยิง 

 2 x Radar Fire Control System 

2 x Continuous Wave Illuminators 

1 x Electro Optical Fire Control 

2 x Target Designation Sight 

ระบบตรวจการณ์ 

 1 x 3 D Long Range Radar (> 350 Km) 

1 x 3 D Medium Range Radar (> 180 Km) 

3 x Navigation Radar 

1 x Surveillance Camera (TV and thermal imager) 

1 x Hull Mounted Sonar 

1 x Towed Array Sonar 

2 x IFF 

1 x Automatic Dependent Surveillance-Broadcast (ADS-B)  

ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์

 1 x Radar ESM 

1 x Communication ESM 

6 x Decoy Launchers 

Active-off board ECM 

ระบบสื่อสาร

 1 x Integrated Communication System 

      Link RTN, Link G & Link E 

1 x TACAN 

1 x SAT Communication 

 ----------------------------------------

** เรือฟริเกต ได้รับการออกแบบตัวเรือและโครงสร้างรองรับการปรับปรุงให้สามารถยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-อากาศ แบบ SM2 รวมทั้งได้มีแผนเตรียมการรองรับไว้แล้ว โดยบริษัทผู้ผลิตระบบประกอบที่เกี่ยวข้องได้แก่ แท่นยิงอาวุธปล่อยฯ แนวตั้ง ระบบอำนวยการรบ เรดาร์ควบคุมการยิงและ เรดาร์ชี้เป้า (Illuminator) สามารถปรับปรุงรองรับการยิงอาวุธปล่อยฯ ดังกล่าวได้ เมื่อกองทัพเรือต้องการและสถานการณ์ด้านงบประมาณเอื้ออำนวย 

สรุป

          เรือฟริเกตที่จัดหาในครั้งนี้ เป็นเรือฟริเกตที่มีสมรรถนะสูงที่สุดในกองทัพเรือ มีความพร้อมมูลในการปฏิบัติการในทะเลทุกมิติ  โดยมีคุณลักษณะและขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ที่ได้รับมอบได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องกับความต้องการของกองทัพเรือ และบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้

ที่มา: New Frigate - กองทัพเรือ


ภาพขนาดย่อ


ขอขอบคุณข่าวและภาพถ่ายจาก: Phattanan Songchai

22 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1 ตุลาคม 2556 เวลา 20:15

    ศักยภาพของคนไทยมีความสามารถสูงมากทำอะไรได้เยอะแยะมากมาย แต่ติดตรงที่...เลยไม่ได้ถูกนำออกมาใช้น่าเสียดายครับเราน่าจะเจริญกว่านี้ถ้าผู้ที่มีอำนาจมีวิสัยทัศน์ที่ดีกว่านี้

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ3 ตุลาคม 2556 เวลา 05:02

    ระบบป้องกันตัวเองมีมากแค่ไหนครับ สวยแต่ถ้าป้องกันตัวเองไม่ได้ ก็จบ

    ตอบลบ
  3. ช่ายครับแล้วเรือดำน้ำเมื่อไรจะได้

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ13 ตุลาคม 2556 เวลา 05:51

    ไทยเราก็วิจัย จรวดอยู่แล้วอยากเห็น เรือไทย ติดจรวดไทย ติด แบบ หลายลำกล้อง แบบBM21

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ13 ตุลาคม 2556 เวลา 05:58

    เรือดำน้ำต่อ เอง ไม่ได้หรือ ครับ เอาแบบว่า เวลาเกิดปัญหา มีแคบซูล ช่วยชีวิตยิง ออก จาก ตัวเรือ เวลาเกิด อุบัติเหตุน่ะครับ ผมเชื่อ ทร .ไทยทำได้

    ตอบลบ
  6. จากรูปเรือฟรีเกตไทย อาวุธดูน้อยไปหน่อย..น่าจะติดPhalanx(ciws) ด้านหน้าทั้ง ข้างซ้ายและข้างขวา เรือ ดีกว่าติดตรงกลาง และพื้นที่ตรงกลางจะว่าง สามารถติด MK-VLS ได้อีกหลายลูก..

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ30 มกราคม 2557 เวลา 03:24

    น่าจะติดแท่งทิ้งทุ่นระเบิดนะ เราสามารถสร้างทุ่นระเบิดได้แล้วนิทำไมไม่ติด และก็ติด ciws ที่ด้านหลังก็โหดแล้ว สอยเครื่องบินและอาวุธนำวิถีได้สบาย

    ตอบลบ
  8. ผมว่าไปเรียนที่สวีเดน เดียวสร้างเครื่องบินไปหัดเรียนแล้วมาสร้างเรือดำน้ำกันมั่งจะซื้อไรกันนักไปเรียนแล้วมาหัดทำใช้เอง

    ตอบลบ
  9. เหรียญทองเต็มคอทั้งคณิต.ฟิสิกข์โอลิมปิก เอารับใช้ชาติกันมั่ง ผลิตทุกชิ้นส่วน สร้างเองใช้เองทั้งเครื่องบิน รถถัง เรือทุกชนิด

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ16 มีนาคม 2557 เวลา 22:17

    SEA DART

    ตอบลบ
  11. ไม่ระบุชื่อ18 มีนาคม 2557 เวลา 05:52

    การสร้างเรือรบ จะสร้างตามรูปแบบการรบ หลักยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี แต่ปัจจุบันยังไม่มี
    หากสร้างกองทัพเรือต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ชั่วคน บริสุทธิ์

    ตอบลบ
  12. ไม่ระบุชื่อ23 มีนาคม 2557 เวลา 20:59

    lcs ของอเมริกัน กับเรือที่ฟริเกตของเกาหลีใต้ที่ไทยกำลังจะต่อลำไหนดีกว่ากันอะครับ

    ตอบลบ
  13. ไม่ระบุชื่อ6 เมษายน 2557 เวลา 23:26

    อยากมีเรือดำน้ำจัง

    ตอบลบ
  14. เราต้องการ บุคลากรและผู้ที่จะถ่ายทอดเทโนโลยี่ขั้นสูง ที่จะนำไทยสู่สากล

    ตอบลบ
  15. ผมแสดง ความคิดไปแล้ว

    ตอบลบ
  16. ไม่ระบุชื่อ15 เมษายน 2557 เวลา 17:48

    ความหลักแหลมของกองทัพเรือมาเลเซีย ยิงพลาดไม่ได้แม้แต่นัดเดียว
    บริสุทธิ์

    ตอบลบ
  17. เข้าประจำการตอนไหนอ่า เรือ 2 ลำใหม่นิ อ่ะ

    ตอบลบ
  18. ไม่ระบุชื่อ19 ตุลาคม 2557 เวลา 06:05

    ตอนเลือกแบบ ทันสมัยที่สุด พอต่อเสร็จก็เริมล้าหลังแล้ว เทคโนโลยีก็มีการพัฒนากันมาเรือยๆ ใด้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาพัฒนาสักยภาพตัวเองดีที่สุด

    ตอบลบ
  19. ไม่ระบุชื่อ28 ตุลาคม 2557 เวลา 07:54

    ต่อลำที่สองเอง ขอมีคณะกรรมการต่อเรือคณะเดียว จนกว่าจะต่อเรือเสร็จ กลัว งบบานปลาย ได้ข่าวว่า แพงกว่าลำแรก สองพันล้านบาท

    ตอบลบ
  20. ไม่ระบุชื่อ16 กรกฎาคม 2558 เวลา 20:12

    ถ้ามีอาปาเช่สักลำประจำการบนเรือ ผมว่าเจ๋งเลยครับ

    ตอบลบ
  21. ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมต่อเรือเหมือนแยกกันอยู่ แยกกันทำ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ถ้าทร.จับมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ โดยจับให้มีอยู่ในที่เดียวกัน การบริหารจัดการก็ง่าย ผลิตภัณฑ์ก็น่าจะถูกลง เพราะโรงงานทั้งหลายมาอยู่ในที่เดียวกันหมด ผลิตโรงนี้ส่งประกอบโรงนั้น ส่งไปประกอบใหญ่ในอู่ต่อเรือ ซึ่งการทำงานก็จะเป็นลุกโซ่ ต้นทุนการผลิตก็จะถูกลง การบริหารจัดการในนิคมอุตสาหกรรม ก็เป็นระเบียบ ไม่สร้างความเดือดร้อน เพราะอยู่ในการควบคุมของทร.และหน่วยงานรัฐ

    ตอบลบ
  22. ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมต่อเรือเหมือนแยกกันอยู่ แยกกันทำ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ถ้าทร.จับมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ โดยจับให้มีอยู่ในที่เดียวกัน การบริหารจัดการก็ง่าย ผลิตภัณฑ์ก็น่าจะถูกลง เพราะโรงงานทั้งหลายมาอยู่ในที่เดียวกันหมด ผลิตโรงนี้ส่งประกอบโรงนั้น ส่งไปประกอบใหญ่ในอู่ต่อเรือ ซึ่งการทำงานก็จะเป็นลุกโซ่ ต้นทุนการผลิตก็จะถูกลง การบริหารจัดการในนิคมอุตสาหกรรม ก็เป็นระเบียบ ไม่สร้างความเดือดร้อน เพราะอยู่ในการควบคุมของทร.และหน่วยงานรัฐ

    ตอบลบ