หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ข้อมูลรายละเอียด F-5 Super Tigris ของกองทัพอากาศไทย

ตามยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ พ.ศ.2551-2562 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2557) กำหนดให้กองทัพอากาศ มีอัตราโครงสร้างกำลังรบ ให้มีเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ 5 ฝูงบิน ประกอบด้วย บ.ข.20/ก (Gripen) จำนวน 1 ฝูงบิน, บ.ข.19/ก (F-16) จำนวน 3 ฝูงบิน และ บ.ข.18 ข/ค (F-5E/F) จำนวน 1 ฝูงบิน โดยมีภารกิจหลักได้แก่ การป้องกันทางอากาศ (Air Defense) การปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพอื่น (Joint Operation) และ การตอบโต้ทางอากาศ (Counter Air Operation) แต่ในปัจจุบันการพัฒนากำลังทางอากาศของประเทศต่างๆ ในโลกเป็นไปอย่างก้าวกระโดดมีการจัดหา บ.สมรรถนะสูง ซึ่งมีขีดความสามารถในการใช้อาวุธไกลเกินระยะสายตา

ปัจจุบันเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F ของกองทัพอากาศได้บรรจุเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2521 ถือว่าเป็น บ.ขับไล่ในยุคที่ 3 ซึ่งมีขีดความสามารถจำกัด ไม่สามารถใช้อาวุธไกลเกินระยะสายตา ประกอบกับมีเทคโนโลยีล้าสมัยไม่สามารถเผชิญกับภัยคุกคามในปัจจุบันได้ ทั้งนี้การจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์มาทดแทน ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถานภาพงบประมาณของ ทอ.ที่ได้รับในแต่ละปีมีอย่างจำกัด ดังนั้นการปรับปรุงขีดความสามารถของ บ.ที่มีใช้งานอยู่ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของ ทอ.ในการดำรงขีดความสามารถในการป้องกันประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
ดังนั้น ทอ.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุง F-5E/F ให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น โดยปรับปรุงระบบ Avionics ระบบอาวุธ และระบบเรดาร์ ให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าหมาย มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง เพื่อดำรงความพร้อมรบ รองรับภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งเป็นการป้องกันปัญหาด้านการส่งกำลังและการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่กำลังจะปิดสายการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย ตลอดจนเป็นการใช้งบประมาณที่น้อยกว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์มาทดแทนถึง 10 เท่า
F-5E/F: Generation
ปัจจุบันเครื่องบินขับไล่ทั่วโลกส่วนใหญ่อยู่ในยุค 4 ถึง 5 แต่ F-5E/F ของทอ.จัดอยู่ในยุค 3 ซึ่งมีขีดความสามารถจำกัด ไม่พร้อมรับกับภัยคุกคาม โดยเมื่อทำการอัพเกรด จะมีระบบอาวุธเทียบเท่า เครื่องบินขับไล่ในยุค 4.5 ที่มีระบบเรดาร์ระยะไกล และระบบอาวุธระยะไกลเกินสายตา ตลอดจนระบบ Data Link
วัตถุประสงค์ของโครงการฯ
====================

ปัจจุบันอายุการใช้งาน F-5E/F จากเดิม 7,200 ชม.บิน หลังจากปรับปรุง (Upgrade) สามารถเพิ่มการใช้งานได้ถึง 9,600 ชม.บิน มีผลให้ ทอ.สามารถใช้งานต่อไปได้อย่างน้อย 15 ปี โดยการปรับปรุงระบบอากาศยาน จะมีการปรับปรุงโครงสร้างทุกส่วนของอากาศยาน รวมทั้งส่วนที่ทำด้วย Honeycomb ทั้งนี้ต้องได้รับการตรวจสภาพทั่วไป และปรับปรุงหรือทำให้อากาศยานสามารถรองรับการปรับปรุงระบบ Avionics และระบบอาวุธ ตามความต้องการของ ทอ.
ปรับปรุงขีดความสามารถ F-5E/F จำนวน 14 เครื่อง (Phase 1 ปรับปรุง จำนวน 10 เครื่อง และ Phase 2 จำนวน 4 เครื่อง พร้อมระบบต่างๆ ) ให้สามารถใช้งานระบบอาวุธสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูง มีระยะยิงไกล ร่วมทั้งติดตั้งระบบเรดาร์ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าหมายเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ และเตรียมการติดตั้งระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) เพื่อใช้งานร่วมกับเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์สมรรถนะสูงแบบอื่นๆ ใน ทอ.และ ระบบป้องกันทางอากาศของ ทอ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องคำนึงถึงการส่งกำลังและซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งานของเครื่องบินที่ได้รับการปรับปรุงดังกล่าวหรืออย่างน้อย 15 ปี หลังการปรับปรุงแล้วเสร็จ
รายละเอียดของการปรับปรุงฯ
- Mission Computer (MC) สามารถประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย
- มีระบบแสดงข้อมูล Color Moving Map บนจอ Horizontal Situation Display รวมทั้งติดตั้งจอ Display ภายในห้องนักบิน แบบ Multi Function Color Display (MFCD) จำนวน 2 จอ
- ติดตั้งหรือปรับปรุงเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ให้มีระบบป้องกันการรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ (ECCM) แบบ HAVE QUICK II
- ติดตั้ง Head Up Display (HUD) และ Up Front Control Panel (UFCP)
- ติดตั้งระบบ Digital Video and Data Recorder (DVDR) ที่สามารถบันทึกภาพและเสียง รวมทั้งมีระบบบรรยายสรุปหลังการบิน (Debriefing System)
- ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและระบบ Environment Control System (ECS) ของ บ. รวมทั้งระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงขีดความสามารถ
Radar
- ติดตั้งระบบเรดาร์ที่ทันสมัย โดยมีขีดความสามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกล สามารถตรวจจับเป้าหมายที่เป็น บ.ขับไล่ฯ ได้ระยะทางไม่ต่ำกว่า 40 ไมล์ทะเล รวมทั้งสนับสนุนใช้งานระบบอาวุธสมัยใหม่และมีขีดความสามารถ Synthetic Aperture Radar (SAR)
Data Link
- ติดตั้ง ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link : TDL) แบบ Link -T ที่สามารถใช้งานในระบบบัญชาการและควบคุมหรือใช้ในระบบการปฏิบัติการทางอากาศของ ทอ.
- ติดตั้งระบบ Embedded GPS/INS แบบ Fiber Optic Gyro พร้อมด้วย GPS Antenna เพื่อความถูกต้อง และแม่นยำในการเดินอากาศ

ระบบอาวุธ
- สามารถใช้งานระบบอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศ ที่ทันสมัยในระยะสายตาที่ ทอ.มีใช้งานในปัจจุบัน และติดตั้ง Software อาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศไกลเกินระยะสายตา สำหรับรองรับ การใช้งานในอนาคต
- สามารถใช้งานระบบอาวุธนำวิถีอากาศสู่พื้นที่ทันสมัย มีความแม่นยำสูงที่ ทอ. มีใช้งานในปัจจุบัน และจะจัดหาในอนาคต
- ติดตั้งอุปกรณ์ให้รองรับการใช้งาน Navigation/Targeting Pod ซึ่ง ทอ.มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
- สามารถใช้งานระบบอาวุธที่ ทอ.มีใช้งานในปัจจุบัน และจะจัดหาในอนาคตได้
ระบบป้องกันตนเอง
- ติดตั้งระบบ Electronics Warfare ที่ทันสมัย ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ Radar Warning Receiver (RWR) และ Countermeasure Dispenser System
ด้านการส่งกำลังและซ่อมบำรุ
การปรับปรุงขีดความสามารถ F-5E/F คำนึงถึงขีดความสามารถการส่งกำลังและการซ่อมบำรุง F-5E/F ในทุกระบบให้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งานหรือไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี ทั้งนี้ในส่วนของระบบ Avionics และระบบอื่นๆ ให้เป็นชนิดหรือแบบเดียวกับ บ.ขับไล่อเนกประสงค์สมรรถนะสูงแบบอื่นๆ ที่มีการใช้งานใน ทอ. เพื่อให้เกิดความง่ายในการส่งกำลังบำรุง ทั้งนี้การปรับปรุงขีดความสามารถ F-5E/F จะต้องดำเนินการภายในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการทางด้านยุทธการและการฝึก รวมทั้งการส่งกำลังบำรุง และการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบริษัทคู่สัญญาเพื่อให้ ทอ.ดำรงขีดความสามารถในการส่งกำลังและซ่อมบำรุงบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง

การถ่ายทอดเทคโนโลยี
เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนา ทอ.ในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาด้านบุคลากรให้เท่าทันเทคโนโลยีปัจจุบันและอนาคต การถ่ายทอดเทคโนโลยีของอากาศยาน การฝึกศึกษาเพื่อให้สามารถดูแล และบำรุงรักษาอากาศยานได้
ทั้งนี้การปรับปรุงขีดความสามารถ F-5E/F จะต้องดำเนินการภายในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการทางด้านยุทธการและการฝึก รวมทั้งการส่งกำลังบำรุง และการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบริษัทคู่สัญญาเพื่อให้ ทอ.ดำรงขีดความสามารถในการส่งกำลัง และซ่อมบำรุงบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง
ด้านการฝึกอบรม
- ดำเนินการฝึกอบรม Difference Training สำหรับนักบิน พร้อมกำหนดหลักสูตรและคู่มือการฝึกบินให้กับ ทอ.
- ดำเนินการฝึกอบรม Maintenance Training สำหรับ จนท.สนับสนับการบิน และ จนท.การซ่อมบำรุงอากาศยาน F-5E/F โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่ (Modified or Replaced) รวมทั้งการฝึกอบรมให้เกิดความคุ้นเคย (Familiarization Course) ต่อระบบที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ด้วย
ในแต่ละปีงบประมาณ กองทัพอากาศจะแบ่งใช้งบประมาณประมาณ 24% จากที่ได้รับทั้งหมดในส่วนของกองทัพอากาศ ไปดำเนินการผูกพันงบประมาณเพื่อแบ่งจ่าย (การจัดทำโครงการผูกพัน) ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศให้อยู่ในสภาพพร้อมรบ ดำรงขีดความสามารถตามบทบาทและหน้าที่ของกองทัพอากาศที่ได้รับมอบหมายในการป้องกันประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
งบประมาณที่ใช้เป็นงบภายในของกองทัพอากาศที่กำหนดไว้ในการเสริมสร้างกำลังของกองทัพ เพื่อดำรงขีดความสามารถตามบทบาทและหน้าที่ของกองทัพอากาศที่ได้รับมอบหมายในการป้องกันประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยไม่ได้ขอใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากส่วนกลาง อย่างที่หลายคนเข้าใจ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น