หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562

พิธีเปิดการฝึกผสม Guadian Sea 2019

การฝึกผสม Guadian Sea 2019 ระหว่างกองทัพเรือไทย-กองทัพเรือสหรัฐฯ เริ่มขึ้นแล้ว
#ฝึกผสมGuardiansea2019
#เป็นProfessionalNavy #สร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับมิตรประเทศ

วันนี้ (7 เมษายน 2562) พลเรือตรี กำจร เจริญเกียรติ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกผสม Guadian Sea 2019 ระหว่างกองทัพเรือไทย-กองทัพเรือสหรัฐฯ บน เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

สำหรับการฝึกในปีนี้ กำหนดรหัสการฝึกเป็น การฝึกผสม Guadian Sea 2019 ทำการฝึกระหว่างวันที่ 7 – 11 เมษายน 2562 ฝั่งทะเลอันดามัน กองทัพเรือได้มอบหมายให้ กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ รับผิดชอบการฝึก โดยมี นาวาเอก สมาน ขันธพงษ์ เสนาธิการกองเรือฟริเกตที่ 1 เป็นผู้บังคับหมู่เรือฝึกผสม Guardian sea 2019 ฝ่ายกองทัพเรือไทย และ CAPT. Matthew Jerbi Commodore of Destroyer Squadron 7 เป็นผู้บังคับหมู่เรือฝึกร่วมฝ่ายกองทัพเรือสหรัฐฯ

การฝึกผสม Guadian Sea เป็นการฝึกแบบทวิภาคี ระหว่าง กองทัพเรือไทย กับ กองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการฝึกการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างเรือ และอากาศยานในการปราบเรือดำน้ำ เป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ระหว่างกองทัพเรือทั้งสองประเทศ ตั้งแต่การฝึกทักษะของเจ้าหน้าที่ทำงาน ไปจนถึงการปฏิบัติและการวางแผนของฝ่ายอำนวยการในการค้นหา ตรวจจับ และต่อตีเรือดำน้ำ

การฝึกผสม Guadian Sea เริ่มการฝึกครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2555 หลังจากนั้นได้มีการฝึกอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปี และได้มีการปรับเปลี่ยนการฝึกเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยจัดตั้งฝ่ายอำนวยการร่วม ระหว่าง กองทัพเรือไทย และ กองทัพเรือสหรัฐ ในการควบคุมการฝึก

โดย กองทัพเรือสหรัฐฯ จัด เรือส่งกําลังบํารุง USNS GUADALUPE T-AO 200 และ เรือดําน้ำพลังงานนิวเคลียร์ (SSN) ชั้น Los Angeles ร่วมฝึก

และกำลังของกองทัพเรือไทย จัดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงตากสิน เรือหลวงล่องลม และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ฮ.ปด.1 (S-70B)

สำหรับพื้นที่การฝึกจะฝึกในพื้นที่ทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความลึกน้ำที่เหมาะกับการฝึกของเรือดำน้ำ โดยเรือดำน้ำสามารถซ่อนพรางจากการตรวจจับ ซึ่งจะทำให้หน่วยค้นหาและปราบเรือดำน้ำได้มีโอกาสใช้ความรู้และประสบการณ์ในการฝึกกับเรือดำน้ำจริง

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกครั้งนี้ จะทำให้กำลังพลของกองทัพเรือมีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติการร่วมกันระหว่าง เรือกับเรือ และ เรือกับอากาศยาน ในการปราบเรือดำน้ำ ซึ่งโอกาสที่จะฝึกกับเรือดำน้ำจริงนั้นหาได้ยาก จึงจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพเรือเป็นอย่างมาก

อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติการร่วมกับเรือดำน้ำที่จะเข้ามาประจำการในประเทศไทยในวันข้างหน้า นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้นด้วย
ที่มา: สำนักงานรองปลัดกระทรวงกลาโหม-กองทัพเรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น