เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ DTI ได้ร่วมกับมิตรประเทศทำการทดสอบยิงต้นแบบจรวดหลายลำกล้องนำวิถี DTI-1G ที่มีระยะยิง 150 กิโลเมตร ซึ่งผลการยิงประสบความสำเร็จอย่างสูง
DTI-1G คือการดำเนินโครงการต่อเนื่องจาก DTI-1 ในการพัฒนาจรวดหลายลำกล้องนำวิถี เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้กับตัวจรวด DTI รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนำวิถีซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นทางลัดในการพัฒนาที่ทำให้ประเทศไทยได้รับเทคโนโลยีที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อการวิจัยและพัฒนาเองได้ โดยไม่ต้องทำการวิจัยใหม่ตั้งแต่ต้นซึ่งจะใช้เวลาหลายปี
ทั้งนี้ สำหรับจรวด DTI-1G นั้น ทาง DTI จะทำการส่งมอบให้กับกองทัพบก จำนวน 3 ระบบ ภายในปี 2560..
โรงปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาของ DTI
โรงปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา เป็นสถานที่วิจัย พัฒนา และผลิตจรวดแบบต่าง ๆ ของ DTI โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสูตรของสารเคมีและโครงสร้างของตัวจรวด การผลิตมอเตอร์จรวด การประกอบลูกจรวด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งในปัจจุบันโรงปฏิบัติการวิจัยและพัฒนามีขีดความสามารถในการผลิตจรวด DTI-1 และ DTI-2 รวมถึงสามารถปรับปรุงเพื่อผลิตจรวดแบบอื่นๆ ที่ DTI กำลังพัฒนาอยู่ได้ในอนาคต
โรงปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาแห่งนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในภูมิภาคเอเชีย ที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาและผลิตจรวด เทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ใช้ในการก่อสร้างบางส่วน เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับจากมิตรประเทศ แต่บางส่วนก็เป็นเทคโนโลยีที่นักวิจัยของ DTI พัฒนาขึ้นเอง เครื่องจักรแม้ส่วนใหญ่จะต้องจัดหาจากต่างประเทศ แต่ก็มีหลายชิ้นที่เป็นเครื่องจักรที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจัดซื้อจากบริษัทของคนไทย
ที่นี่จึงมีขีดความสามารถในการสนับสนุน และตอบสนองความต้องการกองทัพ ในด้านการใช้งานจรวดได้เป็นอย่างดี
ภาพและรายละเอียดจาก: https://www.facebook.com/dtithailand