หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562

กองทัพเรือ จัดพิธีต้อนรับ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูง

กองทัพเรือ จัดพิธีต้อนรับ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูง ล้ำสุดในอาเซียน ปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ
วันนี้ (7 ม.ค.62) ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีต้อนรับ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่า "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" อันเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชเป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ต่อจาก DSME.-DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) เกาหลีใต้ เป็นการพัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือ สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ มีระบบป้องกันภัยทางอากาศ และระบบโซน่า สามารถโจมตีเรือดำน้ำระยะไกล พร้อมเรด้าตรวจการณ์ 3 มิติ ติดตามเป้าหมาย
รายละเอียดทั้งหมด อ่านเพิ่มเติมด้านล่างครับ
////////////////////
กองทัพเรือจัดพิธีต้อนรับเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูงต่อจากสาธารณรัฐเกาหลี ในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๗๑๕ ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี
กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่า เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีความหมายของ ภูมิพล หมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน” อดุลยเดช หมายถึง “อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้” ครั้งนี้ นับเป็นสิริมงคลและยังความปลาบปลื้มมาสู่กองทัพเรือและกำลังพลทุกคน อย่างหาที่สุดมิได้ โดยเรือฟริเกตลำนี้เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูงเทียบเท่าชั้นเรือพิฆาต ที่ได้มีการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลัก ภายใต้ยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พุทธศักราช ๒๕๕๑ – ๒๕๖๐ แบบของเรือจึงได้รับการพัฒนามาจากแบบเรือพิฆาต ชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) และสร้างโดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ จึงถือได้ว่าเป็นเรือฟริเกตที่มีความทันสมัยและเป็นเรือที่มีคุณค่าทางยุทธการสูงซึ่งจะเป็นกำลังรบทางเรือที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือดังกล่าว
เรือฟริเกต คือ เรือรบที่มีความเร็วสูง ที่มีหลายประเภทตามอาวุธประจำเรือ มีระวางขับน้ำประมาณ ๑๕๐๐–๓๕๐๐ ตัน แบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามระบบอาวุธประจำเรือ อาทิ เรือฟริเกตต่อสู้อากาศยาน เรือฟริเกตควบคุมอากาศยาน เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ และเรือฟริเกตอเนกประสงค์ เป็นต้น และสำหรับ เรือฟริเกตที่ได้จะเข้ามาประจำการใหม่นี้เป็นการจัดหาเพื่อทดแทนเรือที่ปลดระวางประจำการออกไป ซึ่งจัดเป็นเรือฟริเกตขีดสมรรถนะสูง มีศักยภาพทางการรบสูง จัดได้ว่าเป็นเรือรบที่มีศักยภาพในการทำการรบและความทันสมัยระดับนำของชาติอาเซียน
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ กองทัพเรือได้ลงนามกับบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD. (DSME) จำกัด สาธารณรัฐเกาหลี สร้างเรือฟริเกตที่มีโครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ ทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ ๖ ขึ้นไป พร้อมระบบ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีระวางขับน้ำสูงสุด ๓,๗๐๐ ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ๓๐ น็อต ระยะปฏิบัติการประมาณ ๔,๐๐๐ ไมล์ทะเล กำลังพล ๑๔๑ นาย ในวงเงิน ๑๔,๖๐๐ ล้านบาท กำหนดส่งมอบเรือใน ๑,๙๖๓ วัน หรือภายใน ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ ออกแบบเรือโดยใช้ Stealth Technology สามารถปฏิบัติการรบได้ ๓ มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้ายและโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำด้วยตอร์ปิโด และอาวุธระยะไกล การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ ๓ มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฏิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ และการปฏิบัติการสงครามเรือผิวน้ำ โดยมีระบบการรบ (Combat System) ที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบการรบของเรือฟริเกต ชุด ร.ล.นเรศวร และ ร.ล.จักรีนฤเบศร ได้ในลักษณะกองเรือ (Battle Group) รวมทั้งปฏิบัติการรบร่วมกับ เครื่องบินขับไล่ ของกองทัพอากาศเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ ในส่วนการป้องกันตนเองประกอบด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี ปืนใหญ่เรือ และปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) หรือที่รู้จักในชื่อฟาลังซ์ ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารถตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้ ด้วยขีดสมรรถนะที่ล้ำสมัยของเรือฟริเกตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ณ ขณะนี้ กองทัพเรือจะนำไปใช้ในภารกิจเพื่อป้องกันอธิปไตยทางทะเลของชาติ ดูแลรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ โดยเรือจะเข้าประจำการที่ กองเรือฟริเกตที่ ๑ กองเรือยุทธการ และจะได้ขอพระราชทานขอพระมหากรุณาธิคุณให้มีพิธีขึ้นระวางเรือ และเจิมเรือ ขึ้นอีกครั้ง ในห้วงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป
รายละเอียดสมรรถนะที่สำคัญของเรือฟริเกตลำนี้
ขนาดของเรือ
- ความยาวตลอดลำ ๑๒๔.๑ เมตร
- ความกว้างกลางลำ ๑๔.๔๐ เมตร
- ความลึก ๘.๐ เมตร
- ระวางขับน้ำ ๓,๗๐๐ ตัน
ระบบขับเคลื่อน
- แบบ Combine Diesel and Gas turbine (CODAG)
- เครื่องจักรใหญ่ดีเซล ตราอักษร MTU รุ่น 16V1163 M94 5,920 kW จำนวน ๒ ชุดเครื่อง
- เครื่อง Gas Turbine ตราอักษร GE รุ่น LM 2500 21,600 kW จำนวน ๑ ชุดเครื่อง
ขีดความสามารถ
- ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๓๐ นอต ที่ระวางขับน้ำเต็มที่
- ระยะปฏิบัติการ ๔,๐๐๐ ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วมัธยัสถ์ (๑๘ นอต) ที่ระวางขับน้ำเต็มที่
- มีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ พร้อมโรงเก็บอากาศยาน สามารถรองรับ S-70B/Sea Hawk และ MH-60S/Knight Hawk
- มีระบบป้องกันสงครามนิวเคลียร์/เคมี/ชีวะ (NBC Protection)
- โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์จำนวน ๑ โรง สำหรับเก็บ ฮ. S-70b
- ดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์รองรับอากาศยานหนัก ๑๐ ตัน พร้อมระบบชักลาก ฮ.
- ขีดความสามารถการปฏิบัติการร่วมกับ ฮ. ระดับ Level 2 class 2A
- ติดตั้งระบบ Visual Landing Aid (VLA) สามารถรับส่งอากาศยานได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
- มีระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้อากาศยาน พร้อมถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ระบบอาวุธ
- ปืนหลัก 76/62 Oto-melera แบบ SR MF (V) จำนวน ๑ แท่น สามารถยิงลูกปืน Vulcano ได้
- ปืนรอง ๓๐ มม. MSI จำนวน ๒ แท่น
- ปืนกลขนาด .๕๐ นิ้ว จำนวน ๒ แท่น
- เครื่องยิงตอร์ปิโดจำนวน ๒ แท่น แท่นละ ๓ ท่อยิง สามารถยิงลูกตอร์ปิโดแบบ MK54
- เครื่องยิงอาวุธปล่อยนำวิถีทางตั้ง (Vertical Launch System : Mk 41) สามารถยิงลูกอาวุธนำวิถีแบบอากาศสู่อากาศ แบบ ESSM ได้
- เครื่องยิงอาวุธปล่อยนำวิถีแบบพื้นสู่พื้นฮาร์พูน แบบ Advance Harpoon Weapon Control System : AHWCS จำนวน ๒ แท่น แท่นละ ๔ ท่อยิง สามารถยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนแบบ Block 2 ได้
- ปืนกลป้องกันตนเองระยะประชิด (CIWS) แบบ Phalanx Block 2B
- ระบบอำนวยการรบ ตราอักษร Saab แบบ 9LV Mk4
- เรดาร์ควบคุมการยิงแบบ CEROS 200
- ระบบนำวิถี CWI สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถี ESSM
- Electro-Optical Director แบบ EOS500
- ระบบ Target Designation Sight รุ่น Bridge Pointer
ระบบตรวจการณ์
- เรดาร์ตรวจการณ์อากาศระยะไกล ๓ มิติ แบบ Sea Giraffe AMB ER
- เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ระยะกลาง ๓ มิติ แบบ Sea Giraffe AMB EP with Radome and Dual TWT
- มีโซนาร์
- มีระบบหมายรู้พิสูจน์ฝ่าย
- มีระบบนำทางอากาศยาน
- ระบบกล้องตรวจการณ์กลางคืน
- ระบบ Communication ESM (CESM)
- ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์
- ระบบ Communication ESM
- ระบบเครื่องยิงเป้าลวง ตลอดจนเป้าลวงตอร์ปิโดแบบ ระบบเดินเรือแบบรวมการ (Integrated Bridge System : IBS)
- บริษัท Naval Group เป็นผู้บูรณาการระบบ IBS โดยใช้อุปกรณ์ของบริษัท Wartsila เชื่อมต่อกับเครื่องมือเดินเรืออื่นๆ แบบ Ethernet Network มีฟังก์ชั่นการใช้งานและระบบสำรองตามมาตรฐาน IMO ได้รับการรับรองจาก DNVGL สามารถส่งเป้า และสัญญาณ Radar Video ให้ระบบ CMS และสามารถแสดงค่าระบบขับเคลื่อน (รอบเครื่อง และพิทช์ใบจักร) ได้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ และเครื่องมือเดินเรือดังนี้
- เรดาร์เดินเรือ X
- เรดาร์เดินเรือ S แบบ IP Radar
- จอแสดงภาพแบบ Multi Function Display
- ระบบ Warship Electronic Chart and Display System (WECDIS)
- Echo Sounder
ใช้เทคโนโลยีในการออกแบบเพื่อลดค่าอิทธิพลตัวเรือ ได้แก่
- ลดค่า Radar Cross Section, Under Water Radiated Noise
ลดค่า Infra-Red ด้วยการลดความร้อนจากท่อแก๊สเสีย, ลดค่า Magnetic Signature ด้วยการติดตั้งระบบ Degaussing ตราอักษร SAM Electronic
- มีระบบ IPMS
- สามารถทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร ระบบขับเคลื่อน ระบบไฟฟ้า ระบบป้องกันความเสียหาย ระบบดับไฟอัตโนมัติ และป้องกันสงครามนิวเคลียเคมีชีวะ (NBC)
Firefighting system
- Damage control system –IPMS (Integrated Platform Management System)
- ติดตั้งระบบ NBC protection ตราอักษร Bruker และระบบชำระล้าง เพื่อให้สามารถปฏิบัติการในพื้นที่สงครามนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ ได้
ระบบสื่อสาร
- เป็นแบบรวมการ (Integrated Communication System : ICS)
ระบบถือท้าย
- เป็นแบบ Rotary Vane Type มีจำนวน ๒ ระบบ ซ้าย และขวา มอเตอร์ไฮโดรลิก, ระบบถือท้ายเป็นแบบ Rudder Roll Stabilizer ( RRS) ทำหน้าที่เป็นระบบกันโคลงในเวลาเดียวกัน
- ระบบถือท้ายแบบอัตโนมัติ
- สามารถใช้งานได้แบบ Emergency, Non Follow up, Follow up, Couse Control, Heading Control และ Heli Ops mode
ระบบรับส่งสิ่งของ และรับส่งน้ำมันในทะเล (RAS & FAS)
- มีสถานีรับส่งสิ่งของในทะเล ทำการรับส่งสิ่งของได้ด้วยวิธี Manila Highline และ Stream STAR Method
- มีสถานีรับน้ำมันในทะเล (FAS) จำนวน ๒ สถานี และสามารถรับส่งสิ่งของทางดิ่ง (VERTREP) ได้
นาวาเอก สมิทนัท คุณวัฒน์ ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช
กำลังพลประจำเรือ ๑๔๑ นาย จะเข้าประจำการใน กองเรือฟริเกตที่ ๑ กองเรือยุทธการ

//////////////
กองประชาสัมพันธ์ สำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ...กองทัพเรือ Royal Thai Navy


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น