หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ALPHA JET (บจ.7) "เครื่องบินรบที่คุ้มค่า"


ความเป็นมา
ตามแผนโครงสร้างกองทัพไทยปี 2540 - 2545 กองทัพอากาศต้องปรับลดความต้องการกำลังรบจาก 36 ฝูงบิน ให้เหลือ 24 ฝูงบิน เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ถูกตัดลงตามวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ แต่กองทัพอากาศยังมีเครื่องบินไอพ่นไม่เพียงพอ ที่จะใช้สนับสนุนภารกิจทางยุทธการตามแผนการปรับลดกำลังรบ เพราะเครื่องบินที่กองทัพอากาศมีประจำการ เช่น บจ.4 (OV-10C) และ บ.จธ.2 (AU-23A) จะครบอายุการใช้งานต้องปลดประจำการ ดังนั้นกองทัพอากาศจึงจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินขับไล่/โจมตี ที่มีสมรรถนะเท่ากันหรือดีกว่ามาทดแทน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของกำลังรบของกองทัพอากาศ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 กระทรวงกลาโหมเยอรมนีได้เสนอขายเครื่องบิน ALPHA JET ให้กองทัพอากาศในราคามิตรภาพ (SYMBOLIC PRICE) เนื่องจากกองทัพอากาศเยอรมันปลดประจำการเครื่องบิน ALPHA JET เพื่อลดขนาดกองทัพ และได้เก็บรักษาไว้ในสภาพดี ตรงกับความต้องการการจัดหาเครื่องบินทดแทนเครื่องบิน OV-10C และ AU-23A ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2542 รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติหลักการจัดซื้อให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบิน ALPHA JET จากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันได้ จำนวน 50 ลำ ในลักษณะการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยให้ใช้งบประมาณของกองทัพอากาศดำเนินการ

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบิน ALPHA JET แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้จำนวน 25 ลำ ตามกำลังงบประมาณที่กองทัพอากาศ สามารถสนับสนุนได้ โดยให้ทำการปรับสภาพเครื่องบินให้บินได้ตามมาตรฐาน AIR WORTHINESS ของเยอรมนี จำนวน 20 เครื่อง และเก็บไว้เป็นอะไหล่ 5 เครื่อง วงเงินจัดซื้อ 62,430,250 ด็อยช์มาร์ค หรือ ประมาณ 1,286,562,592 บาท ในการจัดซื้อครั้งนี้ได้จัดทำการค้าต่างตอบแทน (COUNTER TRADE) ตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย ต่อจากนั้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2542 ผู้บัญชาการทหารอากาศได้ร่วมลงนามในข้อตกลง (Agreement) จัดซื้อ เครื่องบิน ALPHA JET กับ Mr.Herman Erath เอกอัครราชฑูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

กองทัพอากาศได้รับมอบเครื่องบินชุดแรก จำนวน 5 เครื่อง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 และทยอยรับมอบจนครบจำนวน 20 เครื่อง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2544 ถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 10 ปี แล้วที่เครื่องบิน ALPHA JET เข้าประจำการในกองทัพอากาศไทย...ล่าสุดทางกองทัพอากาศได้จัดงานเพื่อระลึกถึงในโอกาสที่ ALPHA JET เข้าประจำการที่ฝูงบิน 231 กองบิน 23 ครบรอบ 10 ปี


โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่/โจมตี ALPHA JET (บจ.7) ผมคิดว่าเป็นโครงการจัดหาเครื่องบินรบที่คุ้มค่ามากที่สุดโครงการหนึ่ง เพราะแม้จะเป็นการจัดหาเครื่องบินมือสองที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว (เหลือชั่วโมงบินอีกมาก) ด้วยเหตุที่ใช้เงินงบประมาณในการจัดหาที่ไม่มาก และได้รับเครื่องบินเข้าประจำการจำนวน 25 ลำ (ใช้งาน 20 ลำ เก็บสำรองเป็นอะไหล่ 5 ลำ) แต่เครื่องบิน ALPHA JET กลับตอบสนองการใช้งานตามภารกิจของการเป็นเครื่องบินโจมตีได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ALPHA JET เป็นเครื่องบินโจมตีเบา ที่สมรรถนะสูง บรรทุกอาวุธได้เป็นน้ำหนักถึง 3 ตัน (สมรรถนะทางการบินโดยรวมสูงกว่าเครื่องบินรบแบบอื่นในขนาดเดียวกัน เช่น HAWK 100 ของอังกฤษ,..) พร้อมทั้งยังมีระบบนำร่องและระบบควบคุมการใช้อาวุธด้วยคอมพิวเตอร์ ที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และใช้งานได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมากองทัพอากาศยังได้พัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เช่นได้รับการติดตั้งระบบนำร่องด้วย GPS เพิ่มเติมจากระบบนำร่องเดิม (Doppler) ติดระบบ ECM หรือ พลุแฟร์ เพื่อป้องกันตัวเองจากการยิงของอาวุธนำวิถี, ปรับปรุงให้สามารถยิงอาวุธนำวิถี อากาศสู่อากาศ AIM-9 Sidewinder

นอกจากนั้นยังมีการใช้ ALPHA JET เป็นเครื่องบินที่ใช้ทดสอบระบบอุปกรณ์ทางทหารต่างๆ ที่กองทัพอากาศวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อใช้งานในกองทัพอากาศ โดยไม่ต้องจัดหาจากต่างประเทศ เป็นการพึ่งพาตนเอง และประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดิน และโครงการพัฒนาขีดความสามารถของ ALPHA JET ล่าสุดคือ กองทัพอากาศได้วิจัยและพัฒนาระบบ DATALINK เพื่อติดตั้งกับ ALPHA JET และเครื่องบินรบแบบอื่นๆ ของกองทัพอากาศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพกับเครื่องบิน Gripen ด้วย เป็นการพัฒนากองทัพอากาศให้เป็น "กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค (One of the Best Air Force in ASEAN)" ทั้งนี้กองทัพอากาศได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะ 12 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 - 2562 เพื่อมุ่งก้าวเข้าสู่ความเป็นกองทัพอากาศดิจิตอล (Digital Air Force) เป็นจุดเริ่มต้น และพัฒนาไปสู่กองทัพอากาศที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Air Force) และไปเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค หรือ One of the Best Air Force in ASEAN ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเผชิญกับภัยคุกคามยุคใหม่ ในทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด


นอกจากนี้เครื่องบิน ALPHA JET ยังถูกใช้งานในภารกิจที่มิใช่ภารกิจทางทหาร โดยกองทัพอากาศประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (ALPHA JET) ให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์แผงเครื่องยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่งเป็นผลให้สามารถปฏิบัติภารกิจการทำฝนหลวงได้ในเมฆชั้นสูง หรือชั้นเมฆเย็น ที่ระดับความสูง 20,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล
อุปกรณ์แผงเครื่องยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ติดตั้งที่ไพลอนติดอาวุธของ ALPHA JET
"จากที่กล่าวมาทั้งหมดเห็นหรือยังหล่ะครับว่า ALPHA JET คุ้มค่ามากขนาดไหน...แหมน่าจะมีสัก 50 ลำนะ...เสียดาย!!"


ข้อมูลจำเพาะ
ประเภท                    บ.ขับไล่/โจมตี
บริษัทผู้ผลิต            FAIRCHILD DORNIER
ประเทศผู้ผลิต          สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เครื่องยนต์               TURBOFAN SNECMA LARZAC04/C20
แรงขับสูงสุด            6,350 ปอนด์
กางปีก                     29.9 ฟุต
ยาว                          40.89 ฟุต
สูง                           13.75 ฟุต
ความเร็วสูงสุด        0.95 มัค / 550 น็อต     
น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 16,500 ปอนด์
เพดานบิน                45,000 ฟุต
G LIMIT                  5G

http://www.youtube.com/watch?v=oezuNBJOHx0&feature=related

By Sukom / www.thaidefense-news.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น